(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน คาดสรุปเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใน 1 เดือนพร้อมดัน Quick Win เกิดภายใน H1/63,NER-UAC โดดร่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2019 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน คาดว่าจะสามารถสรุปหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนภายใน 1 เดือน หลังจากที่วันนี้ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงรูปแบบให้มีความเหมาะสม จากโมเดลทั้ง 7 รูปแบบ โดยคาดว่าเฟสแรกจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนราว 250 แห่ง ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโครงการนำร่องในรูปแบบ Quick Win ราว 10-20 โครงการที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในครึ่งแรกของปี 63

"วันนี้มี 7 โมเดลต้นแบบให้มาหารือกันก่อน แต่ไม่ใช่จะเป็นต้นแบบนั้นทั้ง 7 โมเดล เพราะต้องดูศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนัก ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเร่งหารือกัน การสรุปหลักเกณฑ์หลังจากนี้คงไม่นานเราจะสรุปให้ได้ภายใน 1 เดือนจากนี้ และมีโครงการ Quick Win ที่จะเกิดในครึ่งแรกของปีหน้า"นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า โครงการ Quick Win จะเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วหรือใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงเป็นโครงการที่ภาครัฐเคยให้การสนับสนุนเงินทุนบางส่วนมาแล้ว แต่ติดขัดปัญหาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ก็ให้เอกชนสามารถเสนอโครงการเข้ามาให้พิจารณาได้ก่อนเพื่อให้เป็นต้นแบบสามารถขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนได้ต่อไป โดยรูปแบบการดำเนินการของแต่ละแห่งไม่ได้กำหนดตายตัวตามหลักเกณฑ์ อาจจะแตกต่างกันได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่ต้องดูถึงศักยภาพของเชื้อเพลิง และความพร้อมของสายส่งไฟฟ้า

สำหรับสัดส่วนการเข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าของชุมชนจะอยู่ในช่วง 10-30% ขณะที่ชุมชนจะมีรายได้จากการจัดหาเชื้อเพลิง และส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่เบื้องต้นมองไว้ที่ 25 สตางค์/หน่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดตายตัว โดยยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบนั้นจะต้องเป็นปริมาณที่เหลือใช้จากในชุมชน หลังจากการระดมความคิดเห็นในวันนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็จะเป็นผู้กำหนดรูปแบบหลักเกณฑ์เพื่อนำไปสู่ทางปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนมีเป้าหมายส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้และจำหน่ายไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า สร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ ตลอดจนส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ขณะที่ พพ.เปิดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ โดยเอกชนลงทุนก่อนทั้งหมดเมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิในสัดส่วน 10% ส่วนเอกชน ซึ่งอาจจะร่วมกับภาครัฐ คือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะถือหุ้น 90% โดยชุมชนเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าในราคาประกัน ขณะที่ชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้อย่างน้อย 25 สตางค์/หน่วย เพื่อนำรายได้เข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน จากการขายไฟฟ้าที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตรา FiT

สำหรับขั้นตอนของโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องระบุพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าพร้อมปริมาณที่ต้องการ ,ชุมชนเสนอความพร้อมของพื้นที่ที่จะก่อสร้าง ทั้งในส่วนของที่ดิน และเชื้อเพลิง ,คัดเลือกและประกาศรายชื่อชุมชนที่ผ่านการพิจารณา โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ภาคเอกชนลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน เสนอความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งด้านเทคนิค และแหล่งเงินทุน รวมถึงด้านราคา, คัดเลือกและประกาศผลเอกชนที่ได้สิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน, ขอใบอนุญาตและก่อสร้างโรงไฟฟ้า และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดโครงการโดยเร็ว จะมีโครงการนำร่องในรูปแบบโครงการ Quick Win สำหรับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วหรือใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงเป็นโครงการที่ภาครัฐเคยให้การสนับสนุนบางส่วนมาแล้ว แต่ติดขัดปัญหาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยโครงการ Quick Win เอกชนสามารถเสนอโครงการเข้ามาให้พิจารณาได้ก่อน แต่เงื่อนไขการลงทุนของชุมชนอาจจะถือหุ้นได้มากกว่า 10% และส่วนแบ่งรายได้เข้าชุมชนมากกว่า 25 สตางค์/หน่วย

สำหรับขั้นตอนของโครงการ Quick Win ประกอบด้วย ภาคเอกชนเสนอความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่เสร็จแล้วหรือใกล้แล้วเสร็จ ,การไฟฟ้าตรวจสอบความพร้อมของสายส่งและปริมาณที่จะรับซื้อไฟฟ้า ,ภาคเอกชนรับฟังความเห็นของชุมชน และเสนอหลักฐานการยอมรับของชุมชน ,ภาคเอกชนเสนอความพร้อมด้านราคา ,คัดเลือกและประกาศผลการพิจารณา ,ขอใบอนุญาตจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

ทั้งนี้ 7 รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนตามข้อเสนอของ พพ. ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์ 3.โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล 4.โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ 7. โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จากตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ,ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยในส่วนการถือหุ้นของชุมชน มีข้อเสนอถือหุ้นในช่วง 10-30% และบางรายเสนอให้มีการแปลงเชื้อเพลิงเป็นส่วนทุนของชุมชนด้วย ขณะที่บางรายมีความกังวลว่าการถือหุ้นของชุมชนจะทำให้เป็นข้อจำกัดในการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ก็มีวงเงินที่พร้อมรองรับสำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนราว 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR นอกจากนี้บางรายเห็นว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ ภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนทั้งภาษีและสิทธิพิเศษเพื่อให้โครงการน่าสนใจและเดินหน้าต่อไป

ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯเสนอโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของสมาชิกที่เคยมีปัญหาและไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้จำนวน 50 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดสมาคมฯได้ทำหนังสือสอบถามพบว่ามีผู้ประกอบการตอบกลับมา 20 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 30-40 เมกะวัตต์ ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการครั้งนี้

ขณะที่นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) กล่าวว่า บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 2 เมกะวัตต์ใน จ.บุรีรัมย์ ที่พร้อมจะนำเสนอเข้าร่วม Quick Win ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จากเดิมทั้งสองโครงการจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานของบริษัท โดยหากได้รับการคัดเลือกก็จะโอนสินทรัพย์ของทั้งสองโครงการมายังบริษัทที่จะจัดตั้งใหม่เพื่อให้ชุมชนเข้าร่วมถือหุ้นด้วย

สำหรับโครงการทั้งสองแห่ง มีมูลค่าลงทุนราว 500 ล้านบาท และส่วนหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งโครงการแรกจะทดสอบการเดินเครื่องในเดือนพ.ย.62 และโครงการที่สองจะทดสอบเดินเครื่องในเดือน ธ.ค.62 โดยใช้เชื้อเพลิงจากหญ้าเนเปียร์ มูลสัตว์ รวมถึงน้ำเสียของโรงงานมาหมักเป็นก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทปลูกหญ้าเนเปียร์ 1,200 ไร่ และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอีกกว่า 400 ไร่ โดยพื้นที่ของโรงไฟฟ้ามีความพร้อมด้านปริมาณเชื้อเพลิง และสายส่งเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดหวังอัตราค่าไฟฟ้าที่ระดับ 4.50-5.50 บาท/หน่วย จากต้นทุนของบริษัทที่ 3.70 บาท/หน่วย

ส่วนบริษัทจะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามในแง่ของการดำเนินการบริษัทก็ยังมองโอกาสการขยายงานต่อเนื่อง

ด้านนายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 1.5 เมกะวัตต์ ที่ จ.ขอนแก่น เงินลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อเข้าร่วมโครงการ Quick Win โดยโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐส่วนหนึ่ง แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 60 ไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้เนื่องจากติดปัญหาสายส่งเต็ม แต่ปัจจุบันมีการขยายสายส่งแล้วทำให้คาดว่าจะสามารถรองรับโครงการของบริษัทได้

ขณะที่นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐ โดยมีแผนจะจัดทำโครงการในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากซังข้าวโพดในพื้นที่ปริมาณ 9 หมื่นตัน/ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ขนาด 2-3 เมกะวัตต์ เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดการเผาทำลายซังข้าวโพดในแต่ละปีและลดปัญหาการเกิดฝุ่นละอองขนาด PM2.5

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ.จัดทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพในพื้นที่ทับสะแก ขนาด 250 กิโลวัตต์ ใช้วัสดุจากหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งนำเป็นโครงการต้นแบบของ กฟผ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ