ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองน้ำท่วมคลี่คลาย-มาตรการภาครัฐหนุนเศรษฐกิจ Q4/62 มีแนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2019 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62 (ต.ค.-ธ.ค.) มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นผลของหลายปัจจัยภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานที่คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติและเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู รวมถึงมาตรการภาครัฐต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร มาตรการ "ชิมช้อปใช้" มาตรการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ อย่าง "ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย" และ "เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก" เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยหนุนภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ก.ย.62 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 41.9 ในเดือน ส.ค.62 มาอยู่ที่ระดับ 42.3 ในเดือน ก.ย.62 เนื่องจากครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย เงินออม ภาระหนี้สิน และระดับราคาสินค้าภายในประเทศ แต่กลับมีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นทางด้านรายได้และการจ้างงานของตนเอง

โดยในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนมีความกังวลลดลง ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ย. 2562 อย่างมาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 ที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนลดค่าใช้จ่ายประจำเดือนลงได้ในระยะสั้น นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้ของถูกลง รวมไปถึงซื้อสินค้าน้อยลง เพื่อเก็บออมมากขึ้นหลังรายได้ของครัวเรือนบางส่วนลดลง สะท้อนให้เห็นมุมมองของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือน ก.ย.62 ยังทรงตัวอยู่ในระดับ 44.4 ใกล้เคียงกับการสำรวจในช่วงเดือน ส.ค.62 ที่ระดับ 44.3 โดยผลของปัจจัยฤดูกาลทำให้ครัวเรือนส่วนหนึ่ง มองว่า รายได้และค่าใช้จ่ายของตนเองน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.-ธ.ค.62) ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงเดือนธ.ค. (ของทุกปี) จะสูงกว่าเดือนอื่นๆ ของปี เนื่องจากเป็นช่วงเดือนแห่งเทศกาล และเป็นช่วงเดียวกันกับที่หลายบริษัทเอกชนปรับเพิ่มค่าจ้างและเงินเดือนประจำปี รวมไปถึงการจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความกังวลของครัวเรือนต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62 หลังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.62 พบว่ามากกว่าครึ่งของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 62

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า จำนวนครัวเรือนที่กังวลเรื่องน้ำท่วมลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปีก่อนรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างและกินระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่า ซึ่งครัวเรือนที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ มองว่า การปรับปรุงสภาพแม่น้ำลำคลอง เช่น ขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดีที่สุด แตกต่างจากมุมมองของครัวเรือนอาศัยในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เห็นว่าการจัดสร้างพื้นที่ชะลอน้ำและแหล่งกักเก็บน้ำอุทกภัยเพิ่มขึ้นจะเป็นวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดีที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ