SCBEIC มอง GDP ไทยปี 62-63 โตเพียง 2.8% สอดคล้องคาดการณ์ IMF ชี้สงครามการค้ายืดเยื้อและขยายวง-ศก.โลกยังเปราะบาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2019 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) เปิดมุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยว่า สอดคล้องกับประมาณการใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2562 และ 2563 จากผลกระทบของสงครามการค้า

SCBEIC จึงยังคงประมาณการการติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 และ 2563 ที่ 2.8% ซึ่ง SCBEIC ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2562 เมื่อล่าสุดเดือนต.ค.ลงมาอยู่ที่ 2.8% และประมาณการมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 2.5% สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2562 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยและผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทางทั้ง การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน

สำหรับปี 2563 SCBEIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 2.8% ตามภาคส่งออกที่มีทิศทางทรงตัว ซึ่งหากพิจารณากลุ่มประเทศที่ IMF มองว่าจะมีการฟื้นตัว จะพบว่าไม่ใช่ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง และคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.2% โดยมีสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะไม่มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเพิ่มเติมจากปี 2562

"อย่างไรก็ดี หากภาวะสงครามการค้าทวีความรุนแรงเพิ่มมากกว่าคาด ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยกลับมาหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงต่ำกว่าที่ 2.8%" บทวิเคราะห์ระบุ

ด้านนโยบายการเงิน SCBEIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหนึ่งครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ตลอดปี 2563 เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ

ส่วนค่าเงินบาทยังมีทิศทางทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่องจากปลายปี 2562 โดยอยู่ในช่วง 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 2563 อีไอซีคาดอยู่ที่ 0.8% ทรงตัวจากปี 2562 จากทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

โดย IMF ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2562 และ 2563 โดยได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จากเดิม 3.2% เหลือ 3.0% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551-2552 จากผลกระทบของสงครามการค้า

พร้อมกันนี้ IMF ยังมองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะขยายตัวได้ 3.4% แต่การฟื้นตัวอาจไม่ทั่วถึง โดยยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงที่จะต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ นอกจากนั้น การฟื้นตัวยังมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ที่มีฐานต่ำเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก

"จากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ และมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น SCBEIC ยังคงมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ยังคงเปราะบาง และยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 และ 2563 ที่ 2.8%" บทวิเคราะห์ระบุ

SCBEIC มองว่า เศรษฐกิจโลกในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว ในขณะที่ภาคบริการเริ่มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่พัฒนาสู่สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงิน, ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในอุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคการผลิตโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปี 2561 และเริ่มหดตัวหลังจากมาตรการกีดกันการค้าทวีความรุนแรงในหลายภูมิภาคตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562

ในขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการโลกก็เริ่มชะลอลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่ภาคบริการแม้ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนี PMI ที่อยู่เหนือเกณฑ์ขยายตัวที่ 50 แต่ก็ยังอยู่ในแนวโน้มที่ชะลอลงต่อเนื่อง และอาจมีความเสี่ยงชะลอลงจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะการหดตัวดังเช่นภาคการผลิตและภาคการค้าสินค้าโลกในระยะต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานในเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่งและยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคครัวเรือนได้

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีความเสี่ยงจากภาษีนำเข้ามูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตรา 15% ซึ่งมีกำหนดการขึ้นภาษีวันที่ 15 ธ.ค.62 แม้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในขั้นต้น (phase 1) แต่การเจรจายังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มยืดเยื้อ การเจรจาทางการค้าสหรัฐฯ-จีนช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ จากจีนราว 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน และ 3) การเปิดตลาดภาคบริการทางการเงินของจีน โดยสหรัฐฯ ได้ระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อแลกกับประเด็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อข้างต้น

อย่างไรก็ดี แม้ข้อตกลงขั้นต้นนี้จะช่วยชะลอความรุนแรงของภาพความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนได้เบื้องต้น แต่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้ายังมีอยู่สูงด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การเจรจาในรอบต่อไป (phase 2) ยังมีความท้าทายอยู่มาก ซึ่งการเจรจาจะเน้นไปที่ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งมีนัยว่าจีนต้องมีการออกกฎหมาย รวมถึงปฏิรูปเชิงโครงสร้างลดการสนับสนุนและอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจขัดกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของทางการจีน และ 2) ทางการสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มลดภาษีสินค้าจีนที่ขึ้นมาก่อนหน้า รวมถึงอาจมีการใช้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ ที่อาจตามมาหลังจากนี้

ด้วยเหตุนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าผู้บริโภค เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์พกพา เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น ฯลฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะสามารถถูกเรียกเก็บได้ทันที ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ยของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นได้ถึงราว 23.6% จากช่วงต้นปีที่ราว 9.5% หากการเจรจารอบต่อไปไม่ประสบผลหรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองและรอการขึ้นภาษีในช่วงปี 2563 ก็เป็นได้

"ดังนั้น อีไอซีมองว่าข้อตกลงทางการค้าที่จะนำไปสู่การยุติสงครามการค้า ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจประสบอุปสรรค เนื่องจากจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย และมีความเป็นไปได้ที่การเจรจาทางการค้าจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563 ซึ่งมีนัยว่าเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้าอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า" บทวิเคราะห์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ