PwC เตือนผู้ประกอบการรับมือกฎหมาย-ภาษี-มาตรฐานบัญชีใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 18, 2019 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ในหัวข้อ "ถึงเวลาเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและภาษีอากร"ว่า ภาคธุรกิจควรจะเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีได้วางเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทางด้านนโยบายผ่านการออกมาตรการทางภาษี ตามแผนโรดแมพระยะ 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนต่าง ๆ และสร้างเสริมบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รวมถึงการจัดทำอนุสัญญา หรือแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับต่าง ๆ ในรูปแบบของการออกกฎหมายหรือระเบียบใหม่ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากที่สุด คือ กฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing Provisions) ที่ได้เริ่มใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและมูลค่าของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและยื่นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ประจำปี เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตรวจสอบผู้ประกอบการได้

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป อยู่กว่า 10,000 รายทั่วประเทศ โดยหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ก็ยังไม่เห็นการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ต้องรอดูในต้นปี 63 หรือในช่วงของการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ว่าจะมีบริษัทใดให้ความร่วมมือบ้าง

"จากเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องของการแข่งขันทางการค้า และเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนในหลายๆภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นผู้ปฏิบัติ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยในเชิงของการกำกับดูแลเรามองว่ากฎหมายภาษี ณ วันนี้มีกฎหมายเดียว หรือ กฎหมายการป้องกันการตั้งราคาโอน ที่เปลี่ยนและได้มีการบังคับใช้ไปแล้ว และยังมีอีกหลายกฎหมายที่จะบังคับใช้ตามมา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ กฎหมายการป้องกันการตั้งราคา ในขณะที่แนวทางอื่นๆ จะเป็นเรื่องของการตีความกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนมาก ฉะนั้นการตีความกฎหมายจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการ ว่าตีความออกมาแล้วผลกระทบในการนำไปใช้ในการทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร"นายสมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกเรื่องคือ มาตรฐานบัญชี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก แต่ในทางกลับกันกฎหมายภาษีไม่ได้เปลี่ยนไปตาม ทำให้เกิดความยากต่อผู้ประกอบการว่าจะปฎิบัติตัวอย่างไร โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการจะทำได้คือ การปรับตัวเอง เช่น การเก็บข้อมูล ซึ่ง DATA จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการดึงข้อมูล

ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผลใช้บังคับไปแล้ว และจะมีผลบับคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 28 พ.ค.63 ผู้ประกอบการจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาว่าข้อมูลที่องค์กรมีอยู่ อยู่ในเครือข่าย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการ เช่น การขอคำยินยอม การบริหารจัดการข้อมูลที่มีความเสี่ยงถูกเอาไปใช้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่ผู้ประกอบการต้องเข้ามาศึกษาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในองค์กรขนาดใหญ่ก็เริ่มตื่นตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัทที่ยังไม่ได้ศึกษากฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากตรวจพบว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลตามข้อกฎหมายดังกล่าว จะมีโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (สำหรับโทษทางอาญา) และโทษทางปกครองที่ถูกเพิ่มอัตราโทษจากเดิมที่ระหว่าง 100,000-500,000 บาท เป็น 1-5 ล้านบาท

"อย่างที่เราทราบดีว่าในปี 63 จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของข้อกฎหมาย ภาษี มาตรฐานการบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายใหม่ ๆ ที่จะออกมาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมขององค์กรทั้งทางด้านบุคลากรและแผนกลยุทธ์จะมีความสำคัญอย่างมาก หากผู้ประกอบการท่านใดมีการบริหารจัดการด้านกฎหมายและภาษีอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบ ซึ่งหากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงขององค์กรด้วย" นายสมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ