(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.ย.62 ส่งออกหดตัว -1.39% มองปีนี้มีโอกาสติดลบราว 1% ก่อนกลับเป็นบวกในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2019 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.ย.62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 20,481.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.39% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -4.24% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,275.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 186,571.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.11% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 179,190.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -3.68% แต่ยังเกินดุลการค้า 7,381.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ย.62 ที่มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.39% นั้นเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยภาพรวมการส่งออกทั้งด้านสินค้าและตลาดปรับตัวดีขึ้น

โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า กลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งใหม่ๆ หลายรายการมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และของใช้ในบ้าน เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ผักผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวได้ดีทั้งด้านปริมาณและราคา

ด้านการส่งออกไปตลาดหลักนั้น การส่งออกไปสหรัฐยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 7.8% ตลาดญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ 2.4% เช่นเดียวกับตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวได้ 6.1% ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปหดตัว 8.2% ตลาดตะวันออกกลางหดตัว 2.4% ตลาด CLMV หดตัว 15.3%

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย.นี้ ขณะที่เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย และความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายปีอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

"การส่งออกในเดือน ก.ย.แม้จะติดลบ 1.39% แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เกินไปจากความคาดหมายมากนัก แม้เราอยากจะเห็นตัวเลขส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลืออยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์ เพราะเราอยากจะให้ส่งออกทั้งปีนี้เข้าใกล้ 0% ที่สุด แต่เดือนนี้หล่นลงมานิด แต่ภาพรวม 3 ไตรมาสที่ติดลบ 2.11% ยังอยู่ในวิสัยที่จะสามารถประคับประคองไปได้ ปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะติดลบ แต่ปีหน้ามั่นใจจะบวกได้ แม้จะยังมีหลายปัจจัยท้าทายอยู่ แต่การส่งออกของไทยยังปรับตัวได้" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

พร้อมประเมินว่า การส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสสูงที่จะติดลบใกล้เคียงระดับ 1% จากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 3% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 การส่งออกจะขยายตัวได้ 0.1% ที่มูลค่า 20,821 ล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะเร่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่เติบโตได้ดี โดยสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจภาคเอกชนในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น สินค้ามันสำปะหลังและมะพร้าวน้ำหอมในตลาดจีน, ไม้ ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ในตลาดอินเดีย นอกจากนี้มีแผนเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ โดยมีกำหนดการเดินทางไปตุรกี เพื่อผลักดันการส่งออกยาง และเริ่มเจรจาฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทยในอิรัก ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปได้มาก และคาดว่าจะสามารถลงนาม MOU ระหว่างกันได้ในไม่ช้า

"จากการประเมินในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนนี้ ยอมรับการส่งออกปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะติดลบ แต่คงลบไม่มาก ประมาณ 1% เล็กน้อย" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

โดยปัจจัยที่ยังมีความท้าทายต่อการส่งออกไทยในปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากความผันผวนในด้านต่างๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรปเพื่อตอบโต้มาตรการอุดหนุนเครื่องบินแอร์บัส และสถานการณ์ Brexit นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทแข็งค่ายังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นผู้ส่งออกจึงควรลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการทำประกันความเสี่ยง หรืออาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว

ขณะที่ประเมินว่าในปี 2563 การส่งออกของไทยจะสามารถกลับไปเป็นบวกได้แน่นอน อย่างน้อย 1-2% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 2.7-3.2% อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ