(เพิ่มเติม) รฟท.เผยกลุ่มซีพีขอเลื่อนเซ็นสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินเร็วขึ้นเป็น 24 ต.ค.นี้, รมว.คมนาคมยันสัญญาไม่ได้เอื้อเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2019 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.ได้รับแจ้งจากกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร (CPH) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขอเลื่อนวันลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 24 ต.ค.62 ช่วงเวลาบ่าย จากกำหนดเดิมวันที่ 25 ต.ค.62 โดยขณะนี้รอหนังสือส่งแจ้งมาอย่างเป็นทางการ

"ทางเขาแจ้งมาเมื่อวันศุกร์ แจ้งทางวาจาว่าขอเลื่อน ซึ่งทางเราก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว"นายวราวุฒิ กล่าว

สำหรับหนังสือลงนามสัญญาและเอกสารแนบท้ายเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่า จะมีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท ระหว่างรฟท. กับ กลุ่ม CPH ในวันที่ 24 ต.ค. 2562 เวลา 13.30 น. ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจะเป็นประธาน ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมวันที่ 25 ต.ค. 2562

เนื่องจากทางกลุ่ม CPH แจ้งว่ามีความพร้อมก่อน ซึ่งไม่มีปัญหาทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ การลงนามสัญญาเป็นการแจ้งว่า โครงการได้เริ่มต้นแล้ว ซึ่งคณะทำงานกำกับดูแลในการทำแผนส่งมอบพื้นที่ ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะมีแผนรายละเอียดในการส่งมอบพื้นที่ และเร่งรัดกระบวนการในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจน

"ยืนยันว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ยึดหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งหลังลงนามสัญญาโครงการกับเอกชนแล้วจะนำรายละเอียดสัญญาทั้งหมด และเอกสารแนบท้ายให้สื่อมวลชน ช่วยประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ เพื่อช่วยกันตรวจสอบว่า มีอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ เพราะผมคิดว่า วันนี้ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง"นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นการปรับร่างสัญญาหลัก หรือเขียนเงื่อนไขที่เอื้อเอกชนนั้น รมว.คมนาคม ยืนยันว่าไม่มี การดำเนินงาน ยึดความชัดเจนของเอกสารและเอกสารแนบท้าย ซึ่งได้กำชับไปยังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องยึดกฎหมายและ RFP ไม่ให้มีอะไรขาดหรือเกิน

สำหรับการชำระเงินในส่วนที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 149,650 ล้านบาท โดยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รัฐจะเริ่มจ่าย เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และเริ่มการให้บริการ

"อย่ากังวลทุกอย่างเป็นไปตาม RFP และกฎหมาย โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ EEC"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ