นายกฯ ชี้อย่านำปมถูกตัดสิทธิ GSP โยงการเมือง เชื่อยังสามารถเจรจาต่อรองได้ เตรียมหารือสหรัฐฯ ช่วงประชุมสุดยอดอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2019 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสหรัฐเตรียมระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย โดยอ้างเหตุผลกรณีที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเพื่ออำนาจการต่อรองของแรงงานว่า เป็นการพิจารณาของทางการสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าจะมีปัญหาตรงนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจาต่อรองมาโดยตลอด และภายใน 6 เดือนก็พยายามเจรจาต่อไป จึงไม่อยากให้มีการคาดเดาว่าปัญหามาจากสาเหตุใดจนนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง ซึ่งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เพราะสหรัฐฯยังถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามานานกว่า 9 ปี ซึ่งการตัดสิทธิเป็นเพราะไทยโตเร็วเกินไปหรือไม่ แต่เชื่อว่ายังสามารถเจรจาพูดคุยได้

"อีก 6 เดือนข้างหน้า (จะมีผลบังคับใช้) ต้องหาวิธีการพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฏหมายของเขา กฏหมายใครก็ต้องเป็นกฏหมายใคร แล้วอย่าไปคาดเดาเกี่ยวกับเรื่องนี้เรื่องโน้น มันคนละเรื่องกันหมด อย่าให้เป็นปัญหาทางการเมือง อย่าพูดให้ทุกอย่างเลวร้ายไปกว่าเดิม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการแก้ปัญหาภายในของไทยด้วย เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งไทยจะพยายามแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

"วันนี้มันคาดเดาไม่ได้ เหมือนเขาก็คาดเดาเราไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป มันขึ้นอยู่กับกติกาและกฏหมาย กติกาของเขาเราทราบดีอยู่แล้ว แต่คงไม่ใช่เรื่องที่เราตื่นตระหนกหรือให้กล่าวว่าร้ายกันไปกันมา ไม่เกิดประโยชน์" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญภาคเอกชนต้องตื่นตัวและดูแลแรงงานในประเทศไทยด้วย ส่วนรัฐบาลก็ใช้การบังคับกฏหมาย ตรวจตราและจับกุมแรงงานผิดกฏหมาย รวมถึงบูรณาการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน และในการประชุมสุดยอดอาเซียนอาจจะนำเรื่องนี้มาหารือกับทางสหรัฐฯ ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ