สศก.คาดโครงการตามแผนฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย สร้างเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2019 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยช่วงปี 2562 งบประมาณ จำนวน 3,120 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 จากพายุ "โพดุล" และ "คาจิกิ" โดย สศก.ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว พบว่า จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวน 1.08 ล้านครัวเรือน ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 36,881 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,282% ของงบประมาณที่ใช้ไป ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 40,002 ล้านบาท

โดยการดำเนินงานแต่ละโครงการจะส่งผลสำเร็จทางเศรษฐกิจ ดังนี้

1.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว) จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 6,429 ล้านบาท จากการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,147 ล้านบาท เฉลี่ย 51,471 บาท/ครัวเรือน และถั่วเขียว 1,282 ล้านบาท เฉลี่ย 25,654 บาท/ครัวเรือน โดยโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงที่ประสบภัยเสียหายสิ้นเชิง ช่วยเหลือไม่เกิน 20 ไร่ ของพื้นที่เสียหาย อัตราช่วยเหลือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 245 บาท/ไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการฯ เฉลี่ยครัวเรือนละ 2,450 บาท ส่วนถั่วเขียว 200 บาท/ไร่ เกษตรกรได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการฯ เฉลี่ยครัวเรือนละ 1,600 บาท จากพื้นที่เป้าหมายโครงการฯ เกษตรกร 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่

2.โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2563/64 ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากการผลิตข้าวในโครงการฯ 27,894 ล้านบาท จากการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน เฉลี่ยไร่ละ 10 กก. เพื่อรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว รวมทั้งเพื่อคงความสามารถในการค้าและการส่งออกข้าวของประเทศไทย แก่เกษตรกรผู้ประสบฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัย 827,000 ครัวเรือน 6.32 ล้านไร่ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 1,223 บาท/ครัวเรือน

3.โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อ ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1,073 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 21,480 บาท จากการสนับสนุนพันธุ์ ปลานิลแปลงเพศ ขนาด 5 - 7 เซนติเมตร จำนวน 800 ตัว/ราย และอาหารสัตว์น้ำนำร่องให้เกษตรกร จำนวน 120 กิโลกรัม/ราย เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 50,000 ราย

4.โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน ส่งผลเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการผลิต รวม 4,216 ล้านบาท หรือเฉลี่ยชุมชนละ 21,080 บาท จากการสนับสนุนปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม ตามประมาณการแหล่งน้ำชุมชน มีเป้าหมายในการดำเนินการ 1,436 แห่ง จำนวน 200,000 ตัว/แห่ง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ปี 2562 รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้านผลผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

5.โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการผลิต ใน 3 กรณี คือ ไก่ไข่ 387 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 8,081 บาท เป็ดไข่ 361 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 7,526 บาท และ ไก่พื้นเมือง 80 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 1,669 บาท โดยสนับสนุนสัตว์ปีก และปัจจัยการผลิต รายการละ 4,850 บาท เลือกได้ครัวเรือนละ 1 รายการ รวม 48,000 ราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นอาชีพเสริมลดรายจ่าย

สำหรับการดำเนินงานทั้ง 5 โครงการนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการการทำงาน 4 หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง และกรมปศุสัตว ซึ่งเริ่มเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมถึง 10 พฤศจิกายน 2562 ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 โดย เชื่อมั่นว่าเมื่อสิ้นสุดทั้ง 5 โครงการจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่ง สศก. จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันให้การดำเนินโครงการเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ