สภาผู้ส่งออก คงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้หดตัว -1.5% กระตุ้นรัฐเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 5, 2019 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2562 หดตัว -1.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท ปี 62 อยู่ที่ 33 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์การส่งออกปี 63 เติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 = 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ 30.15 – 30.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

ขณะที่การส่งออกเดือนก.ย. 62 มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.4% ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 9 เดือนปีนี้ (เดือนม.ค.- ก.ย.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 186,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.1% การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ทั้งนี้ปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1) การหาพันธมิตรการค้าใหม่ ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี RCEP ในวาระที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 และการประชุม East Asia Summit 2019 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตั้งเป้าเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2562

2) จากเหตุการณ์ความไม่สงบในการประท้วงของฮ่องกง ทำให้นักลงทุนฮ่องกงและไต้หวันเริ่มหาพื้นที่กระจายความเสี่ยงมายังไทยเพิ่มขึ้น และ 3) สถานการณ์ Brexit ที่มีแนวโน้มที่ชัดเจนจากการที่สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศเห็นพ้องกันในการขยายกำหนดเบร็กซิทเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากเดิมในวันที่ 31 ต.ค.2562 ทำให้ผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาเพิ่มในการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย 1) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากการตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ จีน และขยายออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป (4 ประเทศ) ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและการค้าโลกถดถอยอย่างรุนแรง รวมถึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนและความต้องการในสินค้าทุน ดังจะเห็นการปรับคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562 ที่ลดลง เช่น จาก 3.32% เป็น 3.0% ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จาก 3.2% เป็น 2.9% ของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

2) สหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทยครอบคลุมสินค้า 573 รายการ ซึ่งสินค้าที่โดนตัดสิทธิ GSP มูลค่า 1,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 4.1% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย ทำให้ไทยมีต้นทุนในการเสียภาษีตามอัตราปกติ (MFN Rate) ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ของสินค้าที่เสียสิทธิ GSP

3) สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ยังคงต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศการเจรจา Trade war deal phase 1 "concrete progress" ดูเหมือนจะผ่านไปได้ดีแต่เป็นความตกลงการค้าในบางประเด็นเพื่อระงับการเก็บภาษีชั่วคราว ภายใต้วงเงินการจัดเก็บภาษีกลุ่ม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 25% เป็น 30% และการขึ้นภาษีกลุ่ม 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รอบที่ 2 อีก 554 รายการ เท่านั้น รวมถึงการเก็บภาษีนำเข้า Safeguard สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมายขยายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน และจะประกาศผลในวันที่ 14 พ.ย.2562 นี้ และ 4) ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลสะพัดของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมถึงปัจจัยกดดันจากค่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัว

ทั้งนี้ สรท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการผลักดันการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการพัฒนาในประเด็น GCI ที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย อาทิ ปรับปรุงระบบ National Single Window (NSW) ให้เป็นแบบ Single Submission และพัฒนา User Interface ให้มีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้และมีขั้นตอนที่ชัดเจน, เพิ่มบทบาทการลงทุนของภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะทางราง, เร่งรัดโครงการ Port Community System (PCS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือ, เร่งรัดการเปิดเสรีการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีกฎหมายการจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดรองรับ พร้อมกับการสร้างกลไกเพื่อติดตามผลกระทบของการควบรวมกิจการของการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด

ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้ารูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และการเชื่อมโยงข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมสู่การให้บริการแบบดิจิทัล และ เร่งรัดการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้ทันสมัยและรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการค้าระหว่างประเทศ เช่น ส่งเสริมให้เกิดการเจรจา FTA เพื่อขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) และการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาไปสู่ SDG goals กับคู่ค้าที่สำคัญ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ