(เพิ่มเติม) IMF ประชุมร่วมธปท. แนะไทยใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระวัง-ยกระดับผลิตภาพในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 5, 2019 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงาน "Joint BOT-IMF High level Conference" ว่า ประเทศไทยนั้น ยังเผชิญกับกับท้าทายจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ โดยปัจจัยด้านต่างประเทศนั้น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนก่อให้เกิดเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ปัจจัยภายประเทศนั้น ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคต่างๆ และความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

แต่ประเทศไทยถือว่ามีความโชคดีที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังมีความเข้มแข็ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นกันชนที่ดี อีกทั้งยังมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ แต่อย่างไรก็ดี จะต้องเก็บไว้ใช้ในภาวะสถานการณ์ข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี การเลือกใช้หรือการออกแบบนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีการใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่การให้เงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกลไกมารองรับ และควรคำนึงถึงการยกระดับผลิตภาพของประเทศ เป็นการใช้ความสามารถด้านการคลังเพื่อประโยชน์ในระยะยาวด้วย

"ความเสี่ยงของการใช้นโยบายการคลัง คือ การรีบออกนโยบายโดยไม่พิจารณาผลเพียงพอในการใช้เงินจำนวนมากแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อย และนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้พิจารณาแล้วอย่างรอบคอบจากการพูดคุยกับ รมว.คลัง เมื่อวานนี้ เราคุยกันเรื่องกิจกรรมอะไรที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ สร้างความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการลงทุนให้มากขึ้น" กรรมการจัดการ IMF ระบุ

ด้านนโยบายการเงินนั้น ประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1 ครั้งในปีนี้ และยังมี Space ที่ยังลดได้มากกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมกันในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) โดยต้องดูว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น จำเป็นต้องทำในตอนนี้หรือไม่ หรือจะเป็นครั้งที่สามารถหยุด (หรือคงอัตราดอกเบี้ย) ได้

หากมองในกรณีของธนาคารสหรัฐ (เฟด) ที่ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ในการประชุมครั้งล่าสุด (30 ต.ค.) และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับที่เหมาะสม เพราะคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐไปในทิศทางที่ดี และยังมีสัญญาณบวกจากการตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้จะยังไม่เป็นทางการ การเลื่อน Brexit แม้จะยังไม่สำเร็จทั้งสองอย่าง แต่ก็มีสัญญาณการลดลงของความไม่แน่นอน เหล่านี้คือเรื่องที่ผู้วางนโยบายต้องให้ความสนใจ

"หากมองภาพรวมทั้งโลก เราแนะนำให้ประเทศต่างๆ มี Policy Space สำหรับนโยบายการเงิน และแนะนำให้ใช้ space นี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้สามารถอัดฉีด Momentum และการขยายตัวได้ ทุกประเทศต้องดูว่าเท่าใดจึงเหมาะสม และในสภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นี้ก็ต้องเก็บกระสุนไว้บ้าง เราอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นจากการตัดสินใจด้านการค้าของสหรัฐฯ และจีน ที่จะลดความตึงเครียดลง" กรรมการจัดการ IMF ระบุ

สำหรับประเทศไทยอยู่ในภาวะภาคอุตสาหกรรมชะลอลง การลงทุนก็ชะลอลง แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงสูงอยู่ แต่จะเป็นการดีหากประเทศไทยจะอัดฉีดมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ Space ด้านนโยบายการคลัง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนที่มีประสิทธิผล (Productive) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronized slowdown) นั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดทางการค้าที่สร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และการลงทุน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ต่างสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนควรเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนโยบายร่วมกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ความเสียหายจากสงครามการค้าก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดย IMF ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.8% มาเหลือที่ 3% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% ส่วนเศรษฐกิจในอาเซียนคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 4.6% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 5% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 4.8%

ทั้งสองกรณี IMF ได้ลดการคาดการณ์ลงจากเดิม เพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากประเทศต่าง ๆ ที่ใช้นโยบายเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และถ้าประเทศต่าง ๆ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยิ่งน้อยลงกว่า ประเทศต่าง ๆ จึงควรดำเนินนโยบายที่มี Space เพราะความเสี่ยงยังคงมีอยู่และมากขึ้น

"ความเสียหายจากที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้ว และยังจำเป็นต้องรอบคอบ ประเทศไทยยังมี space สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง และยังคงมี space สำหรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงอยู่ในสถานะที่ดี การจะใช้ Space เหล่านี้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้วางนโยบายเป็นสำคัญ" นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่าระบุ

สำหรับในสภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในโลก บทบาทของ IMF ที่พอจะช่วยรักษาเสถียรภาพของอาเซียนและไทยได้นั้น IMF ได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ และมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และในขณะที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการสร้างความแข็งแรงของกันชนเพื่อรองรับความผันผวน ตัวอย่างเช่น ธปท. มีเงินสำรองฯอยู่ในระดับสูง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล รวมถึงผู้มีทักษะทางดิจิทัล จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

กรรมการจัดการ IMF ยังชื่นชมกับความสำเร็จของประเทศไทยที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดี โดยจะเห็นว่าประเทศไทยมีระดับรายได้ของประชากรสูงขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2540 พบว่าระดับความยากจนของไทย ลดลงจาก 67% มาอยู่ต่ำกว่า 10% และนั่นไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จของคนไทย แต่เป็นความสำเร็จของผู้ทำนโยบายด้วย ขณะที่ประเทศอาเซียนก็ถือว่าทำได้ดีมากในความพยายามที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการลดความยากจน พัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพิ่มความแข็งแกร่งด้านการศึกษา และสาธารณสุข

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากมุมมองของสมาชิกประเทศที่ได้รับประโยชน์จากงานของ IMF มี 2 เรื่อง คือ 1.คำแนะนำเรื่องการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ 2. IMF ได้ช่วยในการทำงานร่วมกับภูมิภาคอาเซียนให้เกิดขึ้น เช่น Chiang Mai Initiative (CMI) ได้มีการรวมเอาความสามารถด้านการเงินของ IMF และ Safety Net ของภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้อาเซียนต่อการรองรับความไม่แน่นอนที่จะเข้ามาในอนาคตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ