(เพิ่มเติม1) บอร์ด กนง.มีมติ 5:2 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 6, 2019 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกสับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.เห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินคำหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็ว โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รัการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโคงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงศ์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติตตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและกรใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง.ได้ประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับที่ประเมินครั้งล่าสุดปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ ทั้งจากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด การจ้างงานชะลอตัวเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของรัฐแล้วก็ตาม ดังนั้นทำให้การประชุม กนง.ครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค.62 จะต้องมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SME ที่ด้อยลง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SME การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ทั้งนี้ คณะกรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการยายตัวของศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

"การปรับลดดอกเบี้ยลงมาที่ 1.25% ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ เทียบกับช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังต้องเผชิญความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ จากผลกระทบของสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัจจัยภายในประเทศเรื่องการทุนภาครัฐและเอกชน ที่ กนง.ยังต้องติดตามใกล้ชิด" นายทิตนันทิ์ กล่าว

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะต้องติดตามต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น ดอกเบี้ย MRR และดอกเบี้ย MOR ปรับตัวลดลงตาม แต่ดอกเบี้ย MLR ไม่ได้ปรับลง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ จะส่งผลให้ MLR ลดลงหรือไม่คงต้องติดตามดู ส่วนเรื่อง Policy Space นั้น ธปท.พร้อมใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ Policy Space มีจำกัดมากขึ้น

พร้อมกันนี้ กนง. ยังมีความเป็นห่วงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ