เอกชน มองพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กระตุ้นหลายหน่วยงานตื่นตัวให้ความสำคัญการปกป้องข้อมูล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 7, 2019 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชยา แซ่จาว กรรมการผู้จัดการ สายงานบริการทางการเงิน บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการจัดการ การบริหารเทคโนโลยี และบริการเอ้าท์ซอร์สชั้นนำของโลก กล่าวในการบรรยายหัวข้อ"พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: ผลกระทบต่อองค์กรและโอกาสทางเศรษฐกิจโดยรวม"ว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่ดี สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มมองข้อมูลของตนเองเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากเงินที่ฝากไว้กับบุคคลอื่น และพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มให้ข้อมูลหรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นเพื่อให้ได้รับบริการสินค้าที่ดีขึ้น เช่น การขอสินเชื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมองว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ ค่อนข้างเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การให้บริการที่ดีขึ้น และให้ความเคารพเจ้าของข้อมูลดีขึ้น

อนึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ.2562) ได้เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.62 ที่ผ่านมา ในบางหมวดหรือบางมาตรา และจะมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 27 พ.ค.63 หรือ 1 ปี ของวันที่ออก

ภายหลังจากที่กฎหมายออกมา ก็มีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เริ่มเห็นการตื่นตัวบ้างแล้ว อย่าง ธนาคารพาณิชย์ ก็เริ่มจัดตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีการจัดการเกี่ยวกับการยินยอมของลูกค้าไปบ้างแล้ว ส่วนบริษัทใดที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อม แนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยน เช่น ให้มีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลข้อมูลส่วนบุคคล, การให้ความพร้อมองค์กร และปรับเปลี่ยนสัญญา

สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ จะบังคับใช้กับบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมถึงนิติบุคคลและองค์กรอื่นๆ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าของข้อมูล หรือบุคคลใดก็ตามที่สามารถระบุได้จากข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดเก็บ ใช้ หรือเปิดเผย, ผู้ควบคุมข้อมูล หรือ บุคคลใดหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดเก็บ ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล, ผู้ประมวลผลข้อมูล หรือบุคคลหรือหน่วยงานที่จัดเก็บ ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแทน หรือโดยคำสั่งของผู้ควบคุมข้อมูล

ขณะที่พื้นที่ของการบังคับใช้ จะมีผลบังคับใช้กับผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลที่พำนักในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการได้มา การใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลที่จัดทำขึ้นในประเทศไทย และ ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลพำนักอยู่นอกประเทศไทย หากเจ้าของข้อมูลพำนักอยู่ภายในประเทศ พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีการนำเสนอสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการชำระเงินเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ และการกำกับดูแลพฤติกรรมของบุคคลนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ยึดถือหลักความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หรือยึดตามหลักสำคัญด้านความเป็นส่วนตัว ที่ให้อำนาจแก่เข้าของข้อมูล ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเป็นธรรม และโปร่งใส หรือ การได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล, มีกรอบของวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน, มีจำนวนข้อมูลน้อยที่สุด หรือการจัดเก็บข้อมูล มีเพียงพอมีความเกี่ยวข้องและจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์, มีความถูกต้อง, จัดเก็บเฉพาะเท่าที่จำเป็น หรือวัตถุประสงค์ของระยะเวลาการจัดเก็บรักษาข้อมูล, ถูกต้องสมบูรณ์ คงสภาพเป็นความลับ และตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม มองเกณฑ์ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นโอกาสทำให้ได้คิดทบทวนเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ต้นทุนที่เกี่ยวข้อง และการเพิ่มความไว้วางใจของลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยองค์กรต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ จากโมเดลการขอความยินยอมหรือแลกเปลี่ยนคุณค่า โดยแปรเป็นโอกาส ใช้ประโยชน์จากการตลาดแบบ Opt-in ให้มากที่สุด, ดูแลข้อมูลลูกค้า เหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยการลงทุนด้านข้อมูล ยึดคุณค่าเป็นหลัก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ