"สนธิรัตน์" คุยม็อบพลังงาน เตรียมตั้งคณะทำงานถกปัญหาโครงสร้าง เล็งถกราคาหน้าโรงกลั่นเป็นเรื่องแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 13, 2019 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน เดินทางมารับฟังข้อเสนอของกลุ่ม "ผีเสื้อกระพือปีก" และเครือข่ายที่สนับสนุน 17 เครือข่าย พร้อมด้วยน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเคลื่อนไหวด้านการปฎิรูปพลังงานไทย ที่ปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องการปฏิรูปพลังงานในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและราคาแก๊สให้เท่าเทียมกับประเทศมาเลเซีย หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือไปแล้วเมื่อ 45 วันที่ผ่านมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, รมว.พลังงาน ให้ช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง

โดยภายหลังการหารือ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับฟังทุกข้อเสนอของกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยจะมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีตัวแทนจากภาคเอกชนและภาครัฐ และจากกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ร่วมหารือในการวางโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ และจะเริ่มประชุมหารือทันทีในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาจัดลำดับประเด็นที่จะมีการหารือกัน ซึ่งหากเรื่องใดสามารถหาทางออกได้ ก็จะให้ดำเนินการทันที และยอมรับว่าในเรื่องแรกที่อาจจะพิจารณา คือการพิจารณาราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

"ผมยืนยันว่า เจตนารมณ์เราไม่ต่างกัน เราอยากเห็นราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว ที่ผมมาวันนี้ ไม่ได้มองในแง่ที่เราขัดแย้งกัน แต่เรามาเพราะเรามีอุดมการณ์ร่วมกัน และผมหวังว่า วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเข้าใจกันในเรื่องของพลังงาน และร่วมกันทำงานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มั่นคงด้านพลังงาน"นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า พร้อมจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ เพื่อหารือถึงการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไทยให้เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมองว่าการปรับราคาหน้าโรงกลั่นสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากที่ผ่านมาราคาหน้าโรงกลั่นอิงราคาที่สิงค์โปร์ และทำเสมือนว่าไทยไม่ได้กลั่นน้ำมันในประเทศ การที่ไทยนำเข้าน้ำมันมาจากสิงค์โปร์ จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งต้นทุนตรงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากโรงกลั่นตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเห็นว่าค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ควรจะตัดออกไป

"ค่าใช้จ่ายที่เป็นแรงจูงใจ ที่ในสมัยแรกของรัฐบาลให้กับโรงกลั่นที่มาตั้งในประเทศไทย แต่เวลานี้โรงกลั่นสามารถส่งน้ำมันไปขายหลายประเทศ ปีที่แล้วมูลค่า 3 แสนล้าน เพราะฉะนั้น เมื่อเราผลิตน้ำมันเหลือและส่งออกไปถึง 3 แสนล้าน แต่คนไทยใช้น้ำมันเหมือนกับว่าเรานำเข้าน้ำมันจากสิงค์โปร์ จึงเห็นว่าท่านรัฐมนตรีก็สามารถพิจารณาเรื่องนี้ และปรับปรุงแก้ไขได้เลย" น.ส.รสนา กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้น มาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยปี 2561 รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 2.3 แสนล้านบาท แต่มีรายได้การจัดเก็บค่าภาคหลวงกับเอกชนลดลง ส่งผลให้รัฐต้องเก็บภาษีน้ำมันจากประชาชนเพิ่มขึ้น

"5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่รายได้เอกชนจ่ายให้กับรัฐลดลง" น.ส.รสนา ระบุ

อดีต ส.ว. ยังกล่าวด้วยว่า โครงการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 และ 2 รัฐที่ใช้เงินถึง 1.6 แสนล้านบาท ถ้าหากนำงบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท มาใช้บริหารจัดการราคาน้ำมันจะสามารถลดราคาน้ำมันลงได้หลายบาท ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้างโดยลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อดูแลประชาชนและราคาน้ำมันในประเทศ ตลอดจนต้องจัดเก็บค่าภาคหลวงที่ได้จากภาคเอกชนให้สูงขึ้น เพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศ

ด้านม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันเกิดจากโครงสร้างและด้านกฏมาย โดยเฉพาะการกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ที่ยังไม่มีความเป็นธรรม เนื่องจากไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่มีการส่งออกน้ำมัน มีการกำหนดราคาส่งออกต่ำกว่าหน้าโรงกลั่น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงกว่าต่างประเทศ จึงเห็นว่าหากขายน้ำมันไปต่างประเทศในราคาหน้าโรงกลั่นได้ ราคาในประเทศก็ควรจะขายในราคาหน้าโรงกลั่นเช่นเดียวกัน

ขณะที่การใช้เงินเพื่อดูแลเอทานอลไม่มีความโปร่งใส เพราะปัจจุบันต้นทุนในการผลิตเอทานอลถูกกว่าราคาเบนซิน 30% เพราะค่าความร้อนที่ต่ำกว่า 30% เมื่อนำไปใช้เป็นพลังงานจะได้พลังงานน้อยกว่า และทำให้ราคาตลาดต่ำกว่าเมื่อเทียบกับราคาเบนซินโดยปกติ แต่ราคาเอทานอลที่ไทยกลับสูงกว่าสหรัฐอเมริกา 100% รวมถึงการกำหนดราคาก๊าซหุงต้มที่ไม่เป็นธรรม เพราะไปอ้างอิงกับราคานำเข้าที่ซาอุดิอาระเบีย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตก๊าซฯ จากในประเทศ เช่น แหล่งบงกชและเอราวัณ ลานกระบือ

ส่วนนายณกานต์ จันธิราชนารา แกนนำกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ยืนยันว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจและติดตามการทำงานคณะทำงานต่อไป โดยจะอยู่จนกว่าปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานได้รับการแก้ไข


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ