พาณิชย์เชิญทุกภาคส่วนรับฟังผลการศึกษาผลกระทบการฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2019 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) กำหนดจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป" ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นการฟื้นการเจรจาเอฟทีไทย-อียู ใน 4 ภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้สนใจจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และในส่วนของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาจะได้รับทราบผลสรุปการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงดังกล่าว ซึ่งกรมฯ ได้มอบหมายให้ทีมวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกได้

และภายหลังการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 กรมฯ จะจัดการประชุมรับฟังความเห็นสาธารณะ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเรื่องกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ กระทรวงพาณิชย์

หลังจากนั้นจะรวบรวมผลการดำเนินงานทั้งหมด ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่มอบให้กรมเจรจาฯ ไปดำเนินการเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ทั้งผลการศึกษา การจัดทำกรอบเจรจา การรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากการลงพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วไทยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 เป็นต้น เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ที่ไทยค้ากับทั่วโลก มีมูลค่าส่งออก 25,068.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และนำเข้า 22,273.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม-และเภสัชกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ