ส.อ.ท.ชี้ส่งออกเครื่องไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ปีนี้ไม่สดใส แต่ปี 63 เห็นโอกาสจากสหรัฐ-อียูหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 20, 2019 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่าสภาวะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 62 จะมีแนวโน้มลดลง สืบเนื่องจากสภาวะตลาดโลกที่ชะลอตัว และภาวะ Trade War ความไม่แน่นอนการสั่งซื้อของตลาดโลก ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งยังมีโอกาสของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากสภาวะสงครามการค้า กล่าวคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กลับเป็นปัจจัยภายนอกเกื้อหนุนให้นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา และจากสหภาพยุโรปหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและฐานการลงทุน มีการขยายการค้าการร่วมมือระหว่างนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการไทย ลูกค้าจากสหรัฐและยุโรปหันมา Sourcing ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากไทยมากขึ้น

"โอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าใน South East Asia ด้วยภูมิศาสตร์ทางกายภาพ และการเปิดเสรีทางการค้า RCEP (FTA Asean+6) ยิ่งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการผลิตมากขึ้น แนวโน้มน่าจะสดใสในปี 63" นายกฤษฎากล่าว

พร้อมระบวุ่า จากการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า เรื่องปัจจัยค่าแรงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเข้ามาลงทุน แต่ปัจจัยด้านการกระจายความเสี่ยง เป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนจะเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการค้า จึงถือได้ว่าในปี 63 จะเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ในยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Industry การจัดซื้อของภาครัฐควรให้ความสำคัญกับสินค้าและอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตได้ในประเทศเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศให้มีศักยภาพแข่งขันได้ต่อไป

"แม้โอกาสจะดูมีแนวทางสดใส แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานรัฐในการอำนวยความสะดวก ทั้งในด้านการลงทุน และความรวดเร็วด้านพิธีการศุลกากร" รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ส.อ.ท.ระบุ

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.62 พบว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 576,005 ล้านบาท ลดลง -2.15% ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าส่งออก 822,068 ล้านบาท ลดลง -11.36% โดยผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกหลัก ที่ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.6% แผงสวิตซ์แผงควบคุมกระแสไฟฟ้าฯ ขยายตัว 4.16% ตู้เย็นขยายตัว 2.20%

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น ขยายตัว 12.68% สหรัฐ ขยายตัว 5.73% ส่วนตลาดส่งออกหลักอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สหรัฐ ลดลง -8.39% ฮ่องกง ลดลง -13.85%

อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 62 การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะลดลง -3.24% (เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ -0.27% และอิเล็กทรอนิกส์ -6.20%) และถึงแม้จะคาดว่ายอดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้จะลดลง แต่ยังมีโอกาสของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากสภาวะสงครามการค้า

นายกฤษฎา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ เป้าหมายใหม่ในการลงทุนและการซื้อวัตถุดิบ ซึ่งจะมาแทนที่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังจะย้ายไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยประเทศที่ถูกมองเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ คือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคและทักษะแรงงานระดับสูง ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ยังไม่มั่นใจนัก

"เมื่อโอกาสทองมาถึง รัฐบาลและภาคเอกชนก็ควรจะต้องปรับตัวและวางยุทธศาสตร์ เชิงรุกอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วงชิงส้มหล่นมูลค่ามหาศาลนี้ต่อไป ปัจจุบันการผลิตที่จะย้ายมานั้น ไม่ใช่การผลิตประเภทใช้แรงงานเป็นหลักอีกต่อไป" นายกฤษฎาระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ