พาณิชย์ พร้อมเป็นเจ้าภาพหารือ FTA ไทย-ตุรกี ตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันแตะ 2,000 ล้านเหรียญฯ ในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2019 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค.62 ณ กรุงเทพฯ

การเจรจารอบนี้จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีศุลกากรในการค้าสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งการจัดทำข้อบท FTA ต่อเนื่องจากการประชุมรอบที่แล้ว เบื้องต้นคาดว่าความตกลงฉบับนี้จะประกอบด้วย 11 ข้อบท เช่น การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวทางการค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัย และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 63

นางอรมน เสริมว่า ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำ FTA กับตุรกี เนื่องจากตุรกีถือเป็นตลาดศักยภาพที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 40 ล้านคนต่อปี รวมทั้งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญสามารถเป็นประตูสู่ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป คาดว่าการจัดทำความตกลง FTA ไทย-ตุรกีจะช่วยดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 1,427 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 61 เป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 ตามที่รัฐมนตรีด้านการค้าของทั้งสองประเทศตั้งเป้าไว้

สำหรับสินค้าสำคัญที่คาดว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จาก FTA ไทย-ตุรกี เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปี 61 สองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกี 1,082 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากตุรกี 345 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ อัญมณี และรถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ