กพช.ถกกลางเดือนธ.ค. พิจารณาเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน-ยืด COD โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 2 แห่งจากเดิมภายในสิ้นปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 2, 2019 08:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเมื่อได้หลักเกณฑ์แล้วกกพ.ก็จะออกระเบียบเพื่อเตรียมการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

นอกจากนี้จะมีการเสนอกพช.พิจารณาภาพรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภาพใหญ่ โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 7 โครงการ มีปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้นจำนวน 30.78 เมกะวัตต์ (MW) และปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นจำนวน 41.83 เมกะวัตต์ จะต้องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในสิ้นปี 62 แม้ขณะนี้จะมีบางโครงการทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ แต่ก็มีบางโครงการที่ประสบปัญหาความล่าช้า โดยมีเอกชน 2 โครงการที่ยื่นขอเลื่อน COD ด้วยเหตุการได้รับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ล่าช้า ซึ่งต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกพช.ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะได้รับการเลื่อนจ่ายไฟฟ้าหรือไม่

รวมถึงจะเสนอกพช.พิจารณาเลื่อนกำหนดการลงนามซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับผู้ประกอบโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm จากเดิมที่จะต้องลงนาม PPA ภายในปลายปี 62 และ COD ในปี 64 แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการอาจทำให้ลงนาม PPA ไม่ทัน โดยโครงการนี้มีผู้ประกอบการได้รับคัดเลือก 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายรวม 300 เมกะวัตต์

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ สิ้นก.ย.62 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วจำนวน 8,913 เมกะวัตต์ ,มีข้อผูกพันแล้วจำนวน 954 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ลงนาม PPA แล้ว 484 เมกะวัตต์ และตอบรับซื้อ 470 เมะกวัตต์ และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) จำนวน 1,672 เมกะวัตต์ ทำให้ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 11,539 เมกะวัตต์ คิดเป็นราว 66% ของแผนพัฒนาและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP2018) ที่กำหนดมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนทั้งหมด 16,778 เมกะวัตต์

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน ที่กำหนดไว้ 10,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) และในปี 62 ซึ่งเป็นปีแรกของการผลิต 100 เมกะวัตต์นั้น ปรากฎว่าไม่ได้รับความสนใจมากนัก โดยปัจจุบันมีผู้ยื่นเสนอขอดำเนินการ 7 เมกะวัตต์ และสามารถลงนามสัญญาได้เพียง 2.6 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการที่เป็นการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบจากส่วนที่เหลือจากการผลิตเพื่อใช้เอง ด้วยอัตราการรับซื้อที่ต่ำเพียง 1.68 บาท/หน่วย ซึ่งกระทรวงพลังงานรับทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวและอยู่ระหว่างปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อไป

นางสาวนฤภัทร กล่าวอีกว่า การประชุมกพช.ในเดือนธ.ค. นี้ คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรายงานความคืบหน้าของการจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หลังคัดเลือกผู้ชนะประมูลนำเข้าจากตลาดจร (spot) ได้แล้วจำนวน 1.3 แสนตัน รวมถึงกพช.อาจจะมีการพิจารณาเรื่องแผนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในครั้งนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ