ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปี 63 อีโคคาร์-รถยนต์ไฟฟ้าหนุนโอกาสโตได้ดีท่ามกลางภาวะตลาดซบเซา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 4, 2019 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงลบต่อตลาดรถยนต์ในปี 63 โดยเฉพาะจากแรงกดดันของความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อที่น่าจะยังคงปกคลุมตลาดรถยนต์ในประเทศต่อไปอีกปี ประกอบกับเศรษฐกิจยังคงมีทิศทางชะลอตัวจากแรงกดดันของสงครามการค้าโลก ทำให้มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะปิดตลาดที่ 960,000 ถึง 1,015,000 คัน ทรงตัวจากปี 62 ถึงหดตัวกว่า 5% อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์อีโคคาร์หลายรุ่นที่น่าสนใจในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงมีโอกาสที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่น่าจะมีการเปิดตัวเพิ่มอีกในปีหน้านี้ด้วย น่าจะช่วยพยุงให้บรรยากาศของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 63 คึกคักขึ้นมาได้บ้างในบางกลุ่มรถยนต์

แม้สถานการณ์โดยรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศปี 63 จะไม่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดนัก แต่ค่ายรถต่างก็พยายามใช้กลยุทธ์ต่างๆในการกระตุ้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 63 คาดว่าประเภทรถยนต์ที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ รถยนต์อีโคคาร์ และรถยนต์ไฟฟ้า

ประเด็นที่น่าสนใจของ รถยนต์อีโคคาร์ ค่ายรถต่างเร่งนำเสนอรุ่นใหม่ออกมาพร้อมกันหลายค่ายในช่วงปลายปี 62 โดยได้มีการปรับโฉมทั้งไมเนอร์เชนจ์ และเมเจอร์เชนจ์ ซึ่งลูกเล่นใหม่ที่คาดว่าอาจจะเป็นตัวแปรดึงตลาดรถยนต์อีโคคาร์ที่หดตัวในปี 62 ให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 63 คือ การเลือกใช้วิธีลดขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กลงแต่เสริมแรงสมรรถนะให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถคงประสิทธิภาพการใช้งานและประหยัดน้ำมันได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอีโคคาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้กับรถยนต์ที่มีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้น ซึ่งบางค่ายนำรถยนต์กลุ่ม B-Segment ที่ขายดีในตลาดปัจจุบันมาลงเครื่องใหม่ในขนาดที่เล็กลงแล้วขายในรูปแบบของอีโคคาร์ คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้คนหันมาซื้ออีโคคาร์มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกซื้อรถโดยเปรียบเทียบราคากับอรรถประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นขนาดรถและรูปลักษณ์ภายนอก ความเหมาะสมต่อการใช้งาน รวมถึงความสามารถในการประหยัดน้ำมันเป็นหลัก

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ในปี 63 น่าจะทำตัวเลขได้ประมาณ 200,000 ถึง 210,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 3-8% หลังจากคาดว่าจะขายได้ 195,000 คัน หรือหดตัวกว่า 6.8% ในปี 62 แต่เนื่องจากลูกเล่นการทำตลาดของรถยนต์อีโคคาร์รุ่นใหม่นี้ได้ไปดึงส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์นั่งขนาดเล็กกลุ่ม B-Segment เดิมมา ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงสอดคล้องกับที่ตลาดรถยนต์ขณะนี้กำลังเร่งนำเสนอรถยนต์นั่งในกลุ่มอีโคคาร์และอเนกประสงค์เป็นหลัก

รถยนต์ไฟฟ้าในไทยปี 63 คาดว่าจะมีสีสันมากขึ้นจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอีกหลายรุ่นจากหลากหลายค่ายที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปเรียบร้อยแล้ว ได้แก่

  • รถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะลงมาเล่นในตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเนื่องจากรถยนต์อเนกประสงค์อยู่ในกระแสความนิยมของตลาดปัจจุบันอยู่แล้ว นอกจากนี้อาจมีรถยนต์นั่งขนาดเล็กในกลุ่มไฮบริดเข้ามาทำตลาดเช่นกันเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัยในงบที่เข้าถึงได้มากขึ้น
  • รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดคาดมีหลากรุ่นที่จะเข้ามาทำตลาดมากขึ้น หลังค่ายรถยุโรปย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นมาไทยเพื่อผลิตส่งออกไปจีน
  • รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ คาดว่าจะเริ่มเป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคมากขึ้นหลังในปี 62 ค่ายรถจีนได้เข้ามาทำตลาดด้วยระดับราคาที่ไม่สูงเกินไปนักเนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับไทย ส่งผลให้ทำยอดจองรถได้สูงเกินคาด ซึ่งในปี 63 ค่ายรถมีโอกาสที่จะทำตลาดได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับในปีนี้อาจมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จากค่ายอื่นที่น่าจะออกมาสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่ายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเรียบร้อยแล้ว

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 63 น่าจะทำตัวเลขได้ประมาณ 58,500 ถึง 65,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 96-118% หลังจากที่คาดว่าจะขายได้ 29,800 คัน หรือขยายตัวกว่า 50% ในปี 62

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งปี 62 อาจหดตัวลงประมาณ 2.5% จากปี 61 และปิดที่ตัวเลขประมาณ 1,015,000 คัน โดยนับว่าเป็นปีแห่งความผันผวนและคาดเดาได้ค่อนข้างลำบากทีเดียวสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปียอดขายรถยนต์ได้รับปัจจัยบวกจากการเร่งปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 61 ทำให้ยอดขายช่วงครึ่งแรกของปี 62 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อนกว่า 7.1% ทว่าพอผ่านเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีสถาบันการเงินเริ่มมีความเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่ออย่างชัดเจนมากขึ้นยังผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ