กบง.วางนโยบายดันไทยเป็นฮับ LNG ปี63 คาดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1.6 แสนลบ.ใน 10 ปีข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 4, 2019 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) ซึ่งเป็นผลศึกษาที่ปตท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional LNG Hub พัฒนาให้เกิดเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย LNG ภายในภูมิภาค

เนื่องจากไทยมีศักยภาพเพียงพอทั้งด้านความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ระดับสูงโดยเฉลี่ยปี 62 นำเข้าประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ศักยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ตำแหน่งเป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีความต้องการ LNG ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายของ LNG ภายในภูมิภาคคิดเป็นประมาณ 60% ของการซื้อ-ขาย LNG ในโลก และมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการอย่างหลากหลาย อาทิ การขนถ่าย LNG จากเรือ การให้บริการกักเก็บ LNG ในถังกักเก็บ การแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติส่งผ่านลูกค้าในประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจ Regional LNG Hub คาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาส 1/63 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ โดยช่วงไตรมาส 2-3/63 จะเริ่มทดลองค้าขาย LNG เชิงพาณิชย์ จะมีการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับสากล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 63 หรือต้นปี 64 เป็นต้นไป

สำหรับผลที่ได้รับจากการพัฒนา Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ซึ่งผลของการพัฒนาเป็น Hub ดังกล่าวจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 63-73) และมีผลต่ออัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับ 16,000 คนต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย

ที่ประชุมฯ ยังรับทราบรายงานความก้าวหน้าของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง บมจ.ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (Global DCQ) ซึ่งเป็นสัญญาเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯ และมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯ โดยเสรีที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ภายใต้แผนความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ซึ่งสัญญากำหนดปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยรายวัน (DCQ)

โดยการหารือร่วมกันระหว่าง ปตท. และ กฟผ.ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังมีบางประเด็นต้องเจรจา ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาภายใต้หลักการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ให้เป็นธรรมทุกฝ่าย และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าสามารถดำเนินการลงนามสัญญา Global DCQ ได้ภายในปี 62 สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และนำเสนอ กพช. ต่อไป

นอกจากนี้ กบง.ยังได้รับทราบแนวทางการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) เพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว โดยยังคงให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลที่มีอยู่ปัจจุบันไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามผลการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานและศึกษาผลกระทบต่างๆ เร่งศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการศึกษาผลทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา B100 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ