ฝ่ายค้านเหน็บรัฐบาลออกมาตรการย้อนแย้งแก้เศรษฐกิจ/"อุตตม"ยันกระตุ้นทั้งออม-บริโภคหวังผลเชื่อมโยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 4, 2019 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงบ่ายวันนี้ โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมนั้นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทำหน้าที่ชี้แจงแทน

นายจิรายุ ตั้งกระทู้ถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาว่าจะเป็นมาตรการที่สามารถบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันมองว่าแต่ละมาตรการแต่ละเรื่องมีความย้อนแย้งกันในตัวเอง เช่น การที่รัฐบาลออกมาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อหวังจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพราะหวังจะให้เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ออกมาตรการส่งเสริมการออม เช่น การจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในชื่อ "กองทุนรวมเพื่อการออม" (Super Savings Fund : SSF) จึงทำให้เกิดความสับสนต่อทิศทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมุ่งไปทิศทางใด

พร้อมกันนี้ นายจิรายุ ยังขอให้รัฐบาลช่วยหาเครื่องยืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะไม่มีอะไรที่ต้องกังวล รวมถึงความมั่นคงทางการคลัง และความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ชี้แจงว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันต่างหนีไม่พ้นการถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านของการส่งออก การผลิต กำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย ซึ่งดูได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้ แต่แค่เติบโตช้าลงกว่าที่คาดไว้จากผลกระทบของปัจจัยภายนอก

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทำให้รัฐบาลต้องทยอยออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งให้เกิดความช่วยเหลือครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

"รัฐบาลเห็นว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ความสุ่มเสี่ยงก็ยังมี ช่วงที่ IMF มาเยือนไทย เขาบอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง และอาจจะยืดเยื้อ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกชุดมาตรการต่างๆ และพัฒนาให้ดูแลครอบคลุมทุกภาคส่วน คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยมาตรการใดมาตรการหนึ่ง เราทำเพื่อจะให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ และเมื่อไรที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อ" รมว.คลังกล่าว

ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลออกมาตรการย้อนแย้งกันเองทั้งการจะสนับสนุนให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยและส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออมนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า การออมถือว่ามีความจำเป็น และไม่ถือว่าขัดหรือย้อนแย้งกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการออมเป็นการลงทุนระยะยาวเป็นประโยชน์ต่อผู้ออมและประเทศในอนาคต ซึ่งชุดมาตรการที่ออกมาล้วนแต่มีความยึดโยงกันและเป็นมาตรการที่เหมาะสม

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าสถานะการคลังของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้มาตรการพิเศษทั้งด้านการเงินการคลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยรัฐบาลยังมีกระสุนเพียงพอสำหรับการนำออกมาใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 พร้อมจะใช้ได้ในต้นปีหน้า

"IMF บอกว่าไทยมีสถานะการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง เขาแนะนำให้ใช้มาตรการพิเศษ ทั้งด้านการเงินการคลัง ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น ก็สมควรจะต้องทำ...เมื่องบปี 63 พร้อมใช้ ก็จะเป็นกระสุนของเรา แต่หัวใจสำคัญ คือต้องร่วมมือกันเดินหน้า รัฐบาลคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เองทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้ยากเกินไป ถ้าจะร่วมมือกันนำพาชาติให้เดินหน้าไปได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้" นายอุตตม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ