(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยเตรียมเสนอครม.อนุมัติวงเงินช่วยชาวนาเพิ่มเติม ย้ำนบข.ดูแลข้าวให้ครบวงจรควบคู่การประกันรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 6, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุม นบข.วันนี้ได้อนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งคาดว่าจะนำมาตรการทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินที่จะใช้จ่าย ก่อนทยอยดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำกับที่ประชุม นบข. โดยขอให้พิจารณาดำเนินการเรื่องข้าวให้ครบวงจร ซึ่งเป็นแผนงานเดิมเพื่อคู่ขนานไปกับการประกันรายได้และมาตรการอื่นๆ เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และกลุ่มประมง ที่ต้องใช้งบประมาณดูแล ดังนั้นจึงต้องหามาตรการเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ขณะเดียวกัน ได้ประเมินสถานการณ์ข้าวที่ต้องแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องข้าวคอไหม้ จึงอยากให้ชาวนาเรียนรู้เรื่องการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ข้าวได้ราคาดี

ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณปี 2563 ขอให้กรรมาธิการที่พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ผ่านวาระ 2 และ 3 ไปได้ด้วยดี เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ ที่ได้อนุมัติไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน โดยขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปก่อน เพราะทุกคนตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่แล้ว และเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาค่าโง่โฮปเวลล์ และเหมืองแร่อัครา โดยย้ำว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ และให้ดูตัวอย่างกรณีคลองด่านที่รัฐบาลแก้ปัญหาได้สำเร็จ ซึ่งสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะหลายเรื่องได้พูดคุยหาทางออกไว้แล้ว และทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยยอมรับว่าที่ผ่านมา ไม่อยากใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหา แต่ทุกอย่างทำเพื่อประชาชน หลังจากนั้นต้องมาหาทางออกและดำเนินการเจราต่อไป

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุม นบข. ครั้งที่ 2/2562 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (คู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว) ทั้งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 62/63 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร ปี 62/63 และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปี 62/63

โดยเห็นชอบการจัดสรรวงเงินโครงการ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกเพิ่มเติม ให้ ธ.ก.ส. 1,370.72 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 โดยอนุมัติเพิ่มเป้าหมายเกษตรกร 0.26 ล้านครัวเรือน จากเดิม 4.31 ล้านครับเรือน รวมทั้งหมด 4.57 ล้านครัวเรือน ขยายระยะเวลาจ่ายเงินให้เกษตรกรภาคอื่นๆ จากเดิม 31 ธ.ค.62 เป็น 30 เม.ย.63 อีกทั้งอนุมัติงบประมาณเพิ่ม 2,667.35 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้เกษตรกร และ ธ.ก.ส เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 สำหรับ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปี 62 จำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน (ปลูกรอบที่ 1) ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ให้ครัวเรือนละ 1 สิทธิ์ โดยต้องเป็นพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวและไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เว้นแต่เกษตรกรจะนำพื้นที่ประสบภัยนั้นไปแจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกใหม่ทันช่วงเวลาเพาะปลูกรอบที่ 1 ปี 62/63

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ขณะนี้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แทนลงไปติดตามดูแลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้แล้ว สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐบาลเน้นให้มีการช่วยเหลืออย่างครบวงจรตลอดเส้นทางการผลิต ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว เก็บข้าวในยุ้งฉาง สินเชื่อแก่โรงสี ไปถึงการจัดจำหน่าย

นางนฤมล กล่าวว่า มาตรการต่างๆ จะทยอยเข้าสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้ง และจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับพืชเกษตรอื่นๆ ด้วย สำหรับการส่งออกข้าวที่มีปริมาณน้อยลงนั้น มีปัจจัยทั้งจากประเทศคู่ค้าที่มีสต็อกมากขึ้น มีการชะลอการสั่งซื้อ ซึ่งได้สั่งให้ หาแนวทางลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตรวมทั้งการแก้ปัญหาโรคข้าวต่างๆ

นายกรัฐมนตรี ยังห่วงใยปัญหาการลักลอบนำเข้าพืชผลเกษตรที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทย โดยได้สั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงเร่งสกัดจับอย่างต่อเนื่องและให้รายงานผลการดำเนินการให้ทราบด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรต้องเก็บข้อมูลสำคัญครบถ้วน ทั้งพื้นที่เพาะปลูก จำนวนผลผลิต ประวัติเกษตรกร เพื่อใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและวางแผนอนาคตต่อไป พร้อมให้เร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกรตามที่ได้มีมติไปแล้วโดยเฉพาะแก้ปัญหาข้อติดขัดการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ prompt pay ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ