เตือน!! คนไทย...ชี้ทางรอดจาก"แก่ก่อนรวย"รับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ปี 64

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 9, 2019 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ชีวิตไม่สิ้น...ก็ต้องดิ้นกันไป"สอดคล้องกับข้อมูลเชิงสถิติอ้างอิงตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 คือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) ในปี 2564

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ทำให้ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และจากการจัดอันดับประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์เท่านั้น

นายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดมุมมองในประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยกำลังเจอกับปัญหาใหญ่ คือ "แก่ก่อนรวย"เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรต่ำมาก ยิ่งกว่านั้นคือรายได้ต่อหัวก็อยู่ระดับต่ำเช่นกัน จึงมีความแตกต่างกับประเทศอื่น อาทิ จีน แม้ว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่ แต่มีอัตราการเกิดของประชากรสูงกว่าไทย ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์ มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำเช่นเดียวกับไทย แต่แตกต่างกันที่รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าประชากรของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวเองในยามเกษียณอายุ

"เวลานี้คนไทยส่วนใหญ่เป็นไปได้ยากมากที่จะอยู่รอดได้ในยามเกษียณอายุ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นลักษณะของสังคมครอบครัว หวังว่าลูกจะมาช่วยดูแลในยามเกษียณ แต่ตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการเกิดน้อยลงไปเรื่อยๆ เหลือแค่ระดับ 1.6% หมายความว่าจำนวนลูกหนึ่งคนกว่าๆ ต้องเลี้ยงผู้สูงอายุ 2 คน ต่างกับอดีตลูก 5 คนเลี้ยงผู้สูงอายุ 2 คน จึงอยากแนะนำว่าต้องเราให้ความสนใจเรื่องการวางแผนทางการเงิน เพื่อเลี้ยงตัวเองได้ในยามเกษียณอายุโดยไม่ต้องพึ่งพาลูก"นายกัมพล กล่าว

นอกจากนั้น ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การพึ่งพาผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้จากธนาคารมาเลี้ยงตัวเองในยามเกษียณ วิธีการเช่นนี้มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีเงินออมเพียงพอกับการใช้จ่าย แม้ว่าทุกคนกำลังคาดหวังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะกลับไปเป็นขาขึ้นเหมือนในอดีต แต่จุดที่น่าสังเกตุคืออัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมานานแล้วและยังมีแนวโน้มจะต่ำลงอีก ดังนั้น ถ้าอยากเกษียณอายุแบบมั่นคง การเรียนรู้เรื่องลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

"ทางรอด"ของผู้ที่ต้องการเกษียณอายุแบบมีเงินออมเลี้ยงตัวเองได้ อันดับแรก คือ ต้องรีบปรับทัศนคติใหม่ เพื่อบริหารจัดการแบ่งเงินมาออมนอกเหนือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยตามหลักการง่ายๆ คือ ต้องมีเงินออมสัดส่วน 25% ของรายได้แต่ละเดือน

ยกตัวอย่างหลังเกษียณอายุ ถ้าต้องการใช้จ่ายเงินเดือนละ 20,000 บาท หรือคิดเป็นปีละ 240,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี ในช่วงระยะ 20 ปี ต้องมีเงินออมทั้งหมด 4,800,000 บาท แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปค่าของเงินจะถูกลดทอนไปเรื่อยๆ ตามค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

"การลงทุนต้องทำตลอด ไม่ใช่อายุ 60 ปีแล้วก็เลิกลงทุนที่ต้องลดระดับลงมาคือเรื่องของความเสี่ยง แต่ไม่ใช่เลิกลงทุน ช่วงอายุยังน้อยถ้าเริ่มเร็วยิ่งดี เรามีข้อมูลสถิติด้านการลงทุนตั้งแต่อายุ 22 ปี แค่ลงทุนเดือนละ 1,000 บาท โดยเลือกลงทุนในหุ้น ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี เมื่อรวมกับต้นและทบกับผลตอบแทนในยามเกษียณอายุจะมีเงินออมถึง 6-7 ล้านบาท เป็นสิ่งสะท้อนว่าเริ่มเร็ว และมีวินัยการลงทุน ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินมากๆ ก็สามารถมีเงินออมที่เพียงพอกับการเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต"นายกัมพล กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลของ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผ่านบทวิจัยฯ ว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ทำให้คนไทยมีอายุคาดการณ์เมื่อเกิดถึง 75.3 ปี ในปี 2559 และเมื่อประมาณการอายุคนไทยตามรุ่นอายุ ซึ่งคิดผลของพัฒนาการทางเทคโนโลยีเข้ามาด้วย พบว่ามีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี ซึ่งหมายความว่า ต่อไปคนไทยจะอายุเกิน 100 ปีเป็นเรื่องปกติ จากล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยที่อายุยืนกว่า 100 ปีแล้วถึง 9,041 คน

การเป็นสังคมอายุยืนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย ภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชนจึงควรวางแผนและเตรียมการที่ดี เพราะแม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่การที่ไทยเป็นสังคมสูงวัยด้วย ทำให้วัยแรงงานมีจำนวนลดลง มีผลิตภาพแรงงานต่ำลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และออกจากตลาดแรงงานเร็วเกินไป ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมกับสังคมอายุยืน ไทยควรปรับนิยามผู้สูงอายุตามประเทศพัฒนาแล้วคืออายุ 65 ปี และยืดรับบำนาญเพื่อยืดอายุการทำงาน ยืดเวลาการออม และฝึกทักษะสำหรับโลกอนาคตมากขึ้น

อีกหนึ่งมุมมองผ่าน นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ คาดการณ์ว่า หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาการเป็นสังคมสูงอายุจะทำให้การเติบโตทางเศษฐกิจของไทยลดลงจากแนวโน้มเดิมราว 0.8 % ต่อปี

ดังนั้น เพื่อรักษาการเติบโตให้ต่อเนื่อง รัฐควรมีมาตรการลดการออกจากงานของคนอายุ 50-59 ปี และขยายอายุบำนาญ พร้อมกับดึงคนวัย 60 ปีขึ้นไปเข้ามาทำงาน ซึ่งจะแก้ปัญหาการเติบโตที่ชะลอลงได้ประมาณ 11%

นอกจากนี้ หากนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มเติมจากปรกติอีก 1 แสนคนต่อปี จะช่วยแก้ปัญหาได้อีก 3.1% แต่ทางเลือกนี้อาจจะสร้างปัญหาอื่นตามมาในระยะยาว มาตรการที่เหมาะสมกว่าที่ควรพิจารณาคือการลดการเกณฑ์ทหารลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ 6% แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น และเพิ่มอัตราการเติบโตผลิตภาพรวม โดยสร้างนวัตกรรมต่างๆ และสร้างธุรกิจใหม่ที่เหมาะกับสังคมอายุยืน

https://youtu.be/mFmA-hE24FU


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ