รมว.พลังงาน เร่งเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน ม.ค.63 เน้นผลประโยชน์ชุมชนสูงสุดมากกว่าด้านราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2019 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ (MW) จะพยายามเร่งเปิดให้ยื่นข้อเสนอเพื่อประมูลแข่งขันภายในเดือน ม.ค.63 ซึ่งจะให้เกณฑ์การพิจารณาเรื่องการให้ผลประโยชน์แก่ชุมชนสูงสุด โดยมีสัดส่วน 60% ส่วนที่เหลือเป็นเป็นการพิจารณาในด้านอื่น ๆ ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิง ,ราคา เป็นต้น โดยภายใน 6 เดือนคาดจะเห็นโครงการนำร่อง ในลักษณะ Quick win เกิดขึ้นได้ก่อน

"เรื่องใหญ่คือศักยภาพชุมชน อะไรเป็นวัตถุดิบ ความมั่นคงของวัตถุดิบ...เรามีทั้งหมดในนโยบาย 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดเป็น Bidding ดูค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม แต่ไม่ได้แปลว่าถูกที่สุด แต่ดูถึงค่าไฟที่เหมาะสมและเกิดผลประโยชน์ชุมชน เราจะใช้ผลประโยชน์ชุมชนเป็นหลัก อย่าไปคิดว่า Bidding จะต้องถูกสุดไม่ใช่ แต่เราต้อง Balance ระหว่างราคาที่จะรับซื้อไฟกับผลประโยชน์ชุมชน กรณีผลประโยชน์ชุมชนให้คะแนน 60% เอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง ถ้าใครทำให้ชุมชนนั้นพ้นความยากจนได้ ก็มีโอกาสมากกว่า"นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติเกณฑ์การดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเมื่อต้นสัปดาห์ ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากชุมชนต่างๆ อย่างคับคั่ง โดยพร้อมเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้ามา โดยจะมีคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในคณะกรรมการฯ ซึ่งจะกลั่นกรองและดูแลการบริหารจัดการโครงการทั้งระบบ ภายใต้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นหน่วยงานหลัก

สำหรับการเดินทางมาตรวจเยี่ยมกิจการกลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ในวันนี้ เดินทางไปศูนย์การค้าฮาบิโตะมอลล์ ในโครงการ T77 Community (อ่อนนุช) ได้รับฟังการบรรยายโครงการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าด้วยบล็อกเชนของบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งก็ได้มีโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายนโยบาย เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้โครงการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็จะต้องขอพิจารณาข้อมูลและผลกระทบทุกอย่างให้รอบคอบ เพราะนับว่าจะเป็นการรื้อระบบใหญ่ของข้อกำหนดต่าง ๆด้วย

ด้านนายอภิชัย ฤทธิบุตร ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้อำนวยการระบบพลังงานดิจิทัล BCP เปิดเผยว่า การแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าด้วยบล็อกเชนในโครงการ T77 นั้นได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ส.ค.61 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนในรูปแบบของการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังติดขัดกฎระเบียบและกฎหมายหลายประการ เช่น ปัจจุบันตามกฎหมายบุคคลธรรมดาไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ นอกจาก 3 การไฟฟ้าและการเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐเท่านั้น ,การกำหนดอัตราค่าใช้บริการสายส่งระบบจำหน่าย (Wheeling Charge) เพราะการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันจะต้องส่งผ่านสายส่งของการไฟฟ้า ,อัตราภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ,การมีศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) เป็นต้น

โครงการ T77 นับเป็นต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือแนวทางการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ภายในเขตนครหลวง ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม 4 ราย ได้แก่ คอมมูนิตี้มอลล์ , โรงเรียน ,คอนโดมิเนียม และโรงพยาบาลฟัน โดยมีการติดตั้งโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้า 635 กิโลวัตต์ (KW) ช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ ผลิตไฟฟ้าได้ 8 แสนหน่วย ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้ง 4 ราย อยู่ที่ 4.7 ล้านหน่วย โดยมีการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่มีการซื้อขายราว 7 แสนหน่วย ส่วนอีก 1 แสนหน่วยก็จะไหลคืนเข้าสู่ระบบ

ปัจจุบันโครงการต้นแบบ T77 เป็น 1 ใน 4 ของโครงการกลุ่ม BCP ที่เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่วน 3 โครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 12 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 63 , โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community ซึ่งร่วมมือกับ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 200 ไร่ ที่มีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและ Community Mall เพื่อให้เป็นต้นแบบชุมชนสีเขียวแห่งอนาคต (Smart Green Energy Community) และโครงการลมลิกอร์ โดยบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในเครือบีซีพีจี ซึ่งเป็นต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ด้วยการนำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ