ธปท.เปิดรายงานกนง. ระบุศก.ไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนปัจจัยใน-ตปท.พร้อมใช้เครื่องมือเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2020 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 ซึ่งได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ และจะประเมินความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตต่อไปเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าประมาณการเดิมและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นบ้างในปีหน้า

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการเลื่อนลงทุนบางโครงการ ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงในหลายภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ ได้แก่ (1) การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งมีนัยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ คู่ค้าสำคัญของไทยที่อาจเติบโตชะลอลงโดยเฉพาะจีนและเอเชีย (2) ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐ ความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน (3) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวกว่าคาดจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง และ (4) ความเสี่ยงของภัยแล้งในปีหน้าที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร

คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะภาคการผลิตและการจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก รวมถึงผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งด้อยลงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อ เอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมันและสภาพอากาศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ได้ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 64

คณะกรรมการฯ ระบุว่า ความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะหากมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้เพิ่มเติม ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนสะสมความเปราะบางมากขึ้น (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร(underpricing of risks) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสหกรณ์ออมทรัพย์ และ (3) ความเสี่ยงในอสังหาริมทรัพย์จากอุปทานคงค้างในบางพื้นที่

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน การดูแลความเสี่ยงต่าง ๆ ควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน(macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการใช้มาตรการเชิงโครงสร้างในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs อาทิ การนำแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) ไปใช้อย่างเหมาะสม การปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งการสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครัวเรือน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการที่ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการส่งผ่านนโยบายการเงินภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตลอดจนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นโดยรวมปรับลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ