(เพิ่มเติม) พลังงาน เปิดวอร์รูมติดตามสถานการณ์ตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน เล็งใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุ้ม หากราคาน้ำมันดิบดูไบพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2020 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งหามาตรการรองรับ เบื้องต้นจากการประเมินสถานการณ์ พบว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อสต็อกน้ำมันสำรองของประเทศ

ปัจจุบัน ณ วันที่ 5 มกราคม 2563 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,988 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,144 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ทั้งหมดประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ ได้มีการบริหารจัดการเพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว โดยกลุ่ม ปตท. (PTT) ได้ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เคยสูงถึงกว่า 74% และล่าสุดปรับลดเหลือประมาณ 50%

ในด้านบริหารราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ เพื่อเตรียมพิจารณานำเงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกในประเทศ แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะเป็นจุดที่มีมาตรการเข้าไปรองรับ

"กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเกณฑ์สำหรับการบริหารจัดการราคาน้ำมันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้มีการจัดทำเป็น Scenario ในช่วงระดับราคาต่างๆ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานยังคงมาตรการชดเชยราคาน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2562 ถึง 10 ม.ค.2563 หลังจากนั้นที่ประชุม กบน.จะตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการใดเข้ามารองรับสถานการณ์ดังกล่าว"นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 1.3 แสนบาร์เรล/วัน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะขอความร่วมมือในการงดส่งออกน้ำมันดิบซึ่งจะได้ปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นประมาณ 25,000 บาร์เรล/วัน และหากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นอีก 36,000 บาร์เรล/วัน โดยจะขอความร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันให้หาทางออกด้านเทคนิคเพื่อใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด

ขณะที่นายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การค้าระหว่างประเทศ (PTT) เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามหากเทียบกับเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์กรณีซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมันช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อค่าประกันเสี่ยงการขนส่งทางเรือ เพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 2 เซนต์/บาร์เรล เป็น 20 เซนต์/บาร์เรล จากปกติค่าประกันความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนต์ต่อบาร์เรล

ส่วนกรณีการปรับพอร์ตจัดหาและนำเข้าน้ำมันดิบของปตท. ที่ปัจจุบัน ได้ลดการจัดหาจากตะวันออกกลางเหลือระดับ 50%ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ จะสามารถลดลงได้อีกหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ปตท. แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของโรงกลั่นในประเทศแต่ละแห่ง จะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้รองรับคุณภาพน้ำมันของแต่ละแหล่งได้อย่างไร รวมถึงต้องพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ประกอบกันด้วย

ด้านนายวีระพล จิรประดิษกุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะกระทบต่อราคาขายปลีกอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งสามารถนำเงินจากกองทุนฯเข้ามาอุดหนุนราคาได้ และหากในอนาคตกองทุนฯติดลบ ก็สามารถกู้เพิ่มได้ 2 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ