ครม.เห็นชอบ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต คาดเงินลงทุน 18,680 ลบ.จ้างงาน 1 แสนคน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2020 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ชายแดนภาคใต้ ยก อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท หวังเกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1 แสนอัตรา

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติเห็นชอบการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย 1.เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2.การจัดสรรที่ดินทำกิน 1,855 ไร่ และ 3.สภาสันติสุขตำบล เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดโครงการพัฒนาในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดยที่ประชุมอนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการขยายผลเมืองต้นแบบ ตามนโยบาย "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน" ซึ่งในส่วนของ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา ถือเป็นเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และสืบเนื่องจากในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่มาก และเป็นพื้นที่ทีมีความพร้อมด้านกายภาพ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดด้านผังเมือง ในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบก มีแผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และด้านพลังงาน ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ/ชีวมวล/แสงอาทิตย์/ลม เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าประสงค์การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4

สำหรับภาพรวมโครงการ มีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

พร้อมกันนั้น ครม.ยังมีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการที่ดิน สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส และมอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดซื้อที่ดินเอกชน บริษัทสวนยางไทย จำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่ อ.ยี่งอ และ อ.เมืองนราธิวาส ในกรอบวงเงิน 390 ล้านบาท และให้แบ่งการบริหารจัดการที่ดิน เป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่า จำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมแห่งประเทศไทย

ส่วนที่ 2 ให้เอกชนเช่า เนื้อที่รวม 1,003 ไร่ โดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการในพื้นที่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ พื้นที่รวม 79 ไร่ เช่น สร้างศูนย์อบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนและการพัฒนาและส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ยุค 4.0

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติการจัดสรรที่ดินทำกินกว่า 1,855 ไร่ ใน จ.นราธิวาสและเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินทำกิน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ ต.ปูโยะ และ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 542–2-53 ไร่

2.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ ต.ปะลุรู ต.โต๊ะเต็ง และ ต.ริโก๋ ใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 266-3-30.3 ไร่

และ 3.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ ต.บางปอ อ.เมืองนราธิวาส และ ต.ดุซงญอ ต.ช้างเผือก ต.จะแนะ ใน อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,047-1-28.9 ไร่

พระราชกฤษฎีกาฯทั้ง 3 ฉบับ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสทำให้มีที่ดินทำกินเพียงพอต่อการครองชีพ ส่งผลให้มีความมั่นคงทางอาชีพและมีแรงจูงในการพัฒนาอาชีพต่อไป รวมทั้งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกชักจูงให้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบเรียบร้อยได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่าน"โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"ของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) โดยให้มีสภาสันติสุขตำบล เป็นกลไกในการบริหารราชการระดับตำบล ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งสภาสันติสุขตำบล ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1.ภาคส่วนราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำบล 2.ผู้ปกครองท้องที่ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ตำบล และ 5.ภาคประชาชน

โดยสภาสันติสุขตำบลมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการตำบลฯ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับระดับจังหวัด และพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ