"กอบศักดิ์"เผยไทยพร้อมผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐาน หวังส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2020 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้เปิดเผยในระหว่างการเสวนาร่วมกับสื่อต่างประเทศในหัวข้อ "Thailand’s Investment Ecosystem Update" ว่า ทางรัฐบาลไทยหวังว่าการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น จะเป็นรากฐานส่งเสริมการเติบโตของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า

นายกอบศักดิ์ กล่าวผู้เข้าร่วมการประชุมที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า การที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง และมีปัจจัยกดดันอันเป็นผลพวงมาจากข้อพิพาททางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์นั้น จะยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี นายกอบศักดิ์ ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าเกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้มีการวางรากฐานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้นให้บรรเทาเบาบางลง และขับเคลื่อนการเติบโตไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทางรัฐบาลกำลังใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเสริมแกร่งเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการเกษตร ศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว พร้อมเร่งการใช้จ่ายภาครัฐและดึงดูดการลงทุนในภาคเอกชน

นายกอบศักดิ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ เพื่อวางรากฐานให้กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต โดยรัฐบาลได้อนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร ไปจนถึงโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน และขยายเครือข่ายขนส่งมวลชนทั่วกรุงเทพฯในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า "เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมกับการลงทุนในไทยที่สุดแล้วครับ"

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยังรักษาแรงดึงดูด ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันสำหรับนักลงทุนและผู้มาเยือนก็เป็นอีกนโยบายที่มีความสำคัญ ข้อกำหนดการรายงานข้อมูลผู้อพยพเข้าเมืองที่ยุ่งยากถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI ยังคงให้การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2562 นั้น การยื่นขอการลงทุนผ่าน BOI สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท แตะที่ 7.561 แสนล้านบาท (2.5 หมื่นล้านดอลลาร์) ในจำนวนนี้ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 5.062 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 67% โดยประเทศจีนถือเป็นแหล่งรายได้จาก FDI อันดับ 1 ที่ 8.6 พันล้านดอลลาร์ รอลงมาคือ ญี่ปุ่นและฮ่องกงที่ระดับ 2.4 พันล้านดอลลาร์และ 1.2 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

จากการที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนจากการอิงกับสถานที่ตั้งไปเป็นการให้ความสำคัญกับกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ Thailand 4.0 นั้น ข้อมูลการลงทุนในปี 2562 แสดงให้เห็นว่า มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายคิดเป็น 38% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และคิดเป็น 42% ของมูลค่า FDI ของปี 2562

ในแง่ของการค้าและการส่งออกนั้น นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยยังมีผลประกอบการที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่อ่อนแอและช่วงเวลาที่ท้าทายตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สินค้า เช่น ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แฟชั่น เครื่องประดับ และมอเตอร์ไซค์ เข้ามามีสัดส่วนต่อการส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้น

"รายการสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 6.5% ของการส่งออกทั้งหมดในปีที่แล้ว" นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว พร้อมเสริมว่า สินค้าเหล่านี้กำลังจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ เหมือนกับปิโตรเลียมกลั่น และผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกในปี 2562 ทั้งหมด

เมื่อถามว่าทำไม GDP ของไทยถึงตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน นายกอบศักดิ์ยอมรับว่า ประเทศไทยขาดการลงทุนขนาดใหญ่ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยืนยันว่าการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันจะเห็นผลภายใน 5 ปี

เนื่องจากภูมิภาคเอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเติบโตในช่วงระยะเวลาอีก 20 ปีข้างหน้า "ถ้าคุณอยากจะมาเอเชีย คุณควรเลือกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นายกอบศักดิ์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ข้อดีของไทยคือ ทำเลที่ตั้ง ซัพพลายเชนที่ครอบคลุม และการเชื่อมต่อที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ