(เพิ่มเติม) ก.พลังงาน คาดเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ เม.ย.นี้ เน้นพื้นที่อ่าวไทยคาดใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 21, 2020 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ก.พลังงาน คาดเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ เม.ย.นี้ เน้นพื้นที่อ่าวไทยคาดใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในสังกัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นรอบที่ 23 ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยจะเน้นพื้นที่อ่าวไทย คาดว่าจะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยมากขึ้น

(เพิ่มเติม) ก.พลังงาน คาดเปิดประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ เม.ย.นี้ เน้นพื้นที่อ่าวไทยคาดใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งเสริมธุรกิจด้านการบริโภคและบริการในพื้นที่ที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรลียม เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ภาคขนส่ง เป็นต้น

"กรมฯอยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ คาดว่าจะสามารถออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(TOR) ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะเปิดประมูลแข่งขันยื่นขอสิทธิได้ภายในเดือนเมษายนนี้"นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวว่า หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล (Data Room) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นกรมฯจะใช้เวลาพิจารณาข้อมูลประมาณ 1-2 เดือนเพื่อตัดสินผู้ชนะ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ม.ค.64

สำหรับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยนั้น ตามกฎหมายจะต้องอยู่ภายใต้ระบบ PSC ส่วนแปลงบนบกจะใช้ระบบสัมปทาน โดยเมื่อครั้งที่กรมฯจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เมื่อปี 57 มีการสำรวจพื้นที่แปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทยจำนวน 6 แปลง และแปลงบนบกภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 10 แปลง ซึ่งในการเปิดรอบใหม่นั้นจะต้องมาพิจารณาเลือกพื้นที่ใหม่อีกครั้ง

ส่วนการเปิดให้สำรวจแปลงปิโตรเลียมบนบก ปัจจุบันยังติดปัญหาอุปสรรคเรื่องของพื้นที่ป่าไม้ ที่มีความทับซ้อนในกฎระเบียบต่าง ๆ ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสามารถขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน สำหรับการดำเนินกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับไว้ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องในระดับนโยบายที่จะต้องดำเนินการต่อไป

ส่วนแปลงสำรวจในทะเลฝั่งอันดามัน ก็ยังไม่สามารถนำมาเปิดให้สิทธิสำรวจในรอบนี้ได้ทันเช่นกัน เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล รวมทั้งศึกษาศักยภาพพื้นที่ดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมฯ คาดหวังว่าจะยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการคนไทยและต่างชาติได้ เพราะไทยไม่ได้เปิดให้สิทธิฯมาถึง 13 ปี นับตั้งแต่ปี 50 ขณะที่เทคโนโลยีขุดเจาะสำรวจฯมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น แม้ว่าต้นทุนจะไม่ได้ถูกลง ขณะที่แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่สุดของประเทศ คือ แหล่งเอราวัณและบงกช มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตในประเทศ แต่ในปี 65 กำลังการผลิตจะลดลงเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเปิดการสำรวจฯรอบใหม่ เพื่อต่อยอดกำลังการผลิตก๊าซฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นายสราวุธ กล่าวว่า กรมฯยังอยู่ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา โดยได้เตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเจรจาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.นี้ ภายใต้หลักการสำคัญ คือ จะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ และไม่แบ่งเขตอำนาจอธิปไตย โดยจะใช้หลักการของ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เป็นต้นแบบ ก่อนนำไปสู่การเจรจาระหว่างสองประเทศตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับภาพรวมการจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศในช่วงปี 62 มีสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็น แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง

ประเทศไทยมีการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 821,060 บาร์เรล/วัน แบ่งเป็น ก๊าซธรรมชาติ 3,411 ล้านลูกกาศก์ฟุต/วัน หรือ คิดเป็น 594,953 บาร์เรล/วัน (แหล่งในประเทศ+ส่วนที่ผลิตได้จาก MTJDA และส่งเข้าไทย) ,ก๊าซธรรมชาติเหลว 110,318 บาร์เรล/วัน หรือ คิดเป็น 100,344 บาร์เรล/วัน (รวมส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียม 50% จาก MTJDA) และน้ำมันดิบ 125,762 บาร์เรล/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ