SCB EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.1% จากเดิมคาด 2.7% จากผลกระทบไวรัสโคโรนา-งบประมาณล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2020 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.1% จากเดิมคาด 2.7% จากผลกระทบไวรัสโคโรนา-งบประมาณล่าช้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เหลือโต 2.1% จากเดิมคาด 2.7% จากผลกระทบโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณ

สำหรับโรคระบาด 2019-nCoV ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 ช่องทางหลักคือภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีน ด้านการห้ามไม่ให้กรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศ ประกอบกับความตื่นกลัวของผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยน้อยลง

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาสที่ 1 จึงมีแนวโน้มส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย คาดว่าก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากความตื่นกลัวของสถานการณ์โรคระบาด จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน และสุดท้าย สถานการณ์โรค 2019-nCoV ยังส่งผลต่อการหยุดชะงักของการผลิตและขนส่ง (supply disruption) เนื่องจากมาตรการควบคุมการเดินทางและขยายวันหยุด รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งของจีน ซึ่งจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อภาคธุรกิจไทย กล่าวคือ ธุรกิจที่มีฐานการผลิตในจีน หรือต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในการผลิต หรือเป็นธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน จะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักดังกล่าว อย่างไรก็ดี บางภาคธุรกิจอาจได้รับผลดีจากการส่งสินค้าทดแทนสินค้าจีนที่ไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

โดย SCB EIC ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของ 2019-nCoV ต่อเศรษฐกิจไทยเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณี Base, Better และ Worse โดยทั้ง 3 กรณี จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัว (แบบ %YOY) มากสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2563 โดยมีสมมติฐานให้นักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์หายไปทั้งหมดในช่วง 2 เดือนนี้ จากมาตรการห้ามประกอบการของทางการจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนแบบ Free Individual Traveller (FIT) และนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น ก็มีการลดลงมากเช่นเดียวกัน และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งในกรณีฐาน (Base) จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวเป็นระยะเวลา 4 เดือน และกลับมามีจำนวนเท่ากับปี 2562 (0%YOY) ในเดือนมิถุนายน 2563 ขณะที่กรณี Better จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีระยะเวลาหดตัวน้อยกว่าที่ 3 เดือน และสุดท้ายในกรณี Worse นักท่องเที่ยวจะหดตัวยาวนานสุด โดยมีระยะเวลาถึง 6 เดือน

ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปี 2563 ปรับลดเหลือ 36.6 – 38.8 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 41.3 ล้านคน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ โดยจะเห็นได้ว่าในกรณี Base case จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะเหลือ 38.0 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -4.6%YOY ขณะที่ในกรณีของ Better case จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 38.8 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -2.5%YOY และสุดท้ายในกรณี Worse cae นักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 36.6 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวมากถึง -8.1%YOY

นอกจากผลกระทบในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น กรุงเทพฯ เมืองพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงที่สุดในโลกหากไม่รวมเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวมถึงเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV ในระดับสูง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อ 19 คน เป็นรองเพียงจีนและญี่ปุ่น) จึงทำให้คนไทยอาจมีความกังวลและตื่นกลัวกับสถานการณ์ และลดการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้า ตลาด และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ การระบาดของไวรัสโคโรนา ยังทำให้การฟื้นตัวของของภาคการส่งออกไทยในปี 2563 เผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากบทเรียนโรค SARS ในปี 2546 พบว่านอกจากจีนแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่พบผู้ป่วยที่เป็นโรค SARS ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยเช่นกัน เช่น เศรษฐกิจสิงคโปร์, ไต้หวัน และฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงไตรมาส 2 และ3 ของปี 2556 ในกรณีของโรค 2019 n-CoV ล่าสุดได้มีการพบผู้ป่วยในประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่ค้าหลักสำคัญของไทย ซึ่งหากโรคระบาดไวรัสโคโรนามีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศเหล่านี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น และกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในปี 2563 โดยในกรณีฐาน SCB EIC ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 0.2%YOY เป็น -1.0%YOY

นอกจากประเด็นความเสี่ยงจากโรคระบาด 2019-nCoV แล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความล่าช้าในการอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ ความล่าช้าของการอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายจะทำให้อัตราเติบโตของรายจ่ายลงทุนก่อสร้างภาครัฐปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 8% เหลือ 4.6%

โดยจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องกรณีเสียบบัตรแทนกัน จึงทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณล่าช้าออกไปอีก 1 - 2 เดือนจากเดิมที่คาดว่าจะผ่านร่างได้ภายในเดือนมกราคม 2563 โดยความล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อรายจ่ายลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ เนื่องจากรายจ่ายประจำสามารถใช้กรอบรายจ่ายเดิมเบิกจ่ายไปพลางก่อนได้ แต่รายจ่ายลงทุน (ที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) จะไม่มีกรอบรายจ่ายเดิมให้อ้างอิง จึงได้รับผลกระทบมาก สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2562 ที่รายจ่ายงบลงทุนหดตัวเฉลี่ยมากถึง -65.5%YOY

ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ. รายจ่ายงบประมาณได้รับการอนุมัติ คาดว่าภาครัฐก็จะทำการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าการเร่งเบิกจ่ายดังกล่าวจะทำได้จำกัดและไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายที่สูญเสียไปจากความล่าช้าของงบประมาณได้ทั้งหมดในปีนี้ เนื่องจากงบลงทุนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในปัจจุบัน คืองบลงทุนใหม่ที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน ซึ่งการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ในส่วนนี้ จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนและกฎหมายหลายข้อ ดังนั้น SCB EIC จึงคาดว่ารายจ่ายก่อสร้างภาครัฐในปี 2563 จะปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 8% เหลือ 4.6% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ -0.1 ppt.

SCB EIC ระบุว่า ด้วยความเสี่ยงจากโรคระบาด 2019-nCoV และความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง (25 bps) มาอยู่ที่ 1% ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 โดย SCB EIC ได้เคยประเมินเงื่อนไขที่อาจทำให้ กนง. ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ไว้ คือ 1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกชะลอลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ 2) ความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วน NPL ปรับแย่ลงต่อเนื่อง และ 3) ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

โดยการแพร่ระบาดของ 2019-nCoV ที่มีความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนไทยในวงกว้าง อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ SCB EIC มองว่า มีโอกาสสูงที่จะทำให้ 2 จาก 3 เงื่อนไขข้างต้นเกิดขึ้น กล่าวคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีโอกาสออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้มาก อีกทั้งการจ้างงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐได้รับผลกระทบ ซึ่งทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ SME อาจลดต่ำลง ดังนั้น กนง. จึงอาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพื่อช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม ลดภาระรายจ่ายด้านการชำระหนี้ และประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เงินบาทจะยังต้องเผชิญต่อแรงกดดันด้านอ่อนค่าในระยะสั้น จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลลดลง ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวการแพร่ระบาดของ 2019-nCoV ทำให้ความผันผวนของเงินบาทปรับสูงขึ้นอย่างมีนัย โดย SCB EIC มองว่า ในระยะสั้นนี้ ปัจจัยจากการแพร่ระบาดของ 2019-nCoV จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับลดลง โดยการแพร่ระบาดของ 2019-nCoV เป็นความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและไทย ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกปรับลดลง (เกิดเป็นภาวะ risk-off) จึงมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven assets) เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับลดลง พร้อมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้สกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับอ่อนค่าลง

ทั้งนี้พบว่า เงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจาก ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยพึ่งพาจีนมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงมีผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดหุ้นไทย จึงเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงที่ความกังวลมีมากขึ้น

ประการที่ 2 คือ ขนาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจปรับลดลงมากในระยะสั้น ด้วยจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มปรับลดลงมาก ส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงมากกว่าที่ SCB EIC ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ความต้องการเงินบาทจึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โดยการศึกษาของ SCB EIC พบว่า ในช่วงที่มูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย การแข็งค่าของเงินบาทมักชะลอลงหรือปรับอ่อนค่าได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เรือล่มในจ.ภูเก็ต รวมถึงช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในปี 2556 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยลดลงอย่างมีนัย พบว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงตามไปด้วย

สำหรับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ 2019-nCov ในปัจจุบัน SCB EIC ประเมินว่า อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในปี 2563 ปรับลดลงประมาณ 1.2-4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 2563 อยู่ที่ 36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้เงินบาทอาจเผชิญต่อแรงกดดันด้านอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 ไตรมาสนี้

ด้วยเหตุนี้ SCB EIC มองว่า เงินบาทจะปรับอ่อนค่าลงมาอยู่ในกรอบ 30.5-31.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อย่างไรก็ดี หลังจากที่ความกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงความเชื่อมั่นของนักลงทุนน่าจะปรับดีขึ้นได้ในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจกลับมาอ่อนค่าลงได้ตามแนวโน้มการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจโลกหลังความเสี่ยงจากภาวะสงครามการค้าปรับลดลง

นอกจากนี้ ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีโอกาสไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินบาทเพิ่มเติมในระยะต่อไปได้ สำหรับในระยะยาว SCB EIC มองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงเกินดุลในระดับสูงจึงทำให้เงินบาทสามารถทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่า ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมุมมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2563 อยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี คาดว่าหากเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาก ภาครัฐก็อาจเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าลักษณะและขนาดของมาตรการจะเป็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ