(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หวังบรรเทาผลกระทบไวรัส-ภัยแล้ง-งบปี 63 ล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2020 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หวังบรรเทาผลกระทบไวรัส-ภัยแล้ง-งบปี 63 ล่าช้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% เนื่องจาก กนง.เห็นว่าเสถียรภาพการเงินเปราะบางมากขึ้น จำเป็นต้องประสานมาตรการการเงินการคลัง โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ จึงเห็นว่านโยบายผ่อนคลายทางการเงินจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ภัยแล้ง และความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.00% ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง

"คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้" เลขานุการ กนง.ระบุ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า และยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

"คณะกรรมการฯ ให้ติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง" นายทิตนันทิ์ระบุ

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาด เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่าง ๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEsพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันในจังหวะที่เหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

นายทิตนันทิ์ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 2.8% แต่รอประเมินผลกระทบก่อนทบทวนในช่วงเดือน มี.ค.นี้

"ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีชะลอตัวลง บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งยังไม่รู้ว่ามากน้อยขนาดไหน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม 2.8% ซึ่ง กนง.ขอประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ก่อนทบทวนประมาณการใหม่ในการประชุมรอบเดือน มี.ค.นี้" นายทิตนันทิ์ กล่าว

นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบหรือไม่ แต่การปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1% เป็นเครื่องมือ (Policy Space) ที่กนง.ได้มีการหารือ และเตรียมไว้ใช้ในภาวะที่จำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่อง และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องถึงขั้นใช้มาตรการ QE เพราะสภาพคล่องในระบบไม่ได้มีปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ