รมว.คมนาคม สั่งฟ้องกลับ"โฮปเวลล์"ฐานวัตถุประสงค์บริษัทผิด กม.-ขั้นตอนเซ็นสัญญาขัดมติ ครม.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2020 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมตรวจพบความผิดปกติการลงนามในสัญญาสัมปทานรถไฟยกระดับ (โฮปเวลล์) อาจไม่เป็นไปตามมติ ครม.ว่า กระทรวงคมนาคมกำลังจะไปฟ้องศาลปกครอง เพราะว่ากระทรวงพาณิชย์ตอบกลับมาแล้ว ว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตไปถูกต้อง เนื่องจากวัตถุประสงค์ ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ไม่ถูกต้อง เพราะกิจการการคมนาคมซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่ต้องได้รับการยกเว้นการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ปว.281 เอกสารยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้รับการยกเว้น จึงไม่สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ทางโฮปเวลล์ ในสมัยที่จะขอสัมปทานนั้นได้ขอยกเว้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ได้สิทธิพิเศษการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 3. ขอก่อสร้างในสถานที่ราชการ และ 4. ขอยกเว้น ปว. 281 โดยมติครม.อนุมัติให้แค่ 2 เรื่องคือเรื่องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้สิทธิบีโอไอ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีเอกสารมายืนยันมติครม.

"มติครม.เขาให้แค่ ข้อ1 และ 2 เมื่อไม่มีการยกเว้นข้อ 3 และ 4 แล้วเอาไปยื่นจดบริษัท ไม่ได้ยกเว้นเอาไปยื่นจดได้อย่างไร "นายศักดิ์สยาม กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า อีกประเด็น รัฐบาลสมัยนั้นให้สัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด แต่คนลงนามเป็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคนละบริษัท เพราะ ครม.ไม่ได้มีมติให้โฮปเวลล์ (ประเทศไทย ) เนื่องจากทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกจากกันเด็ดขาด

"วัตถุประสงค์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมฟ้องให้เขาเพิกถอนวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท พอเพิกถอน สัญญาก็ต้องเป็นโมฆะ"นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม อธิบายว่า หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเพิกถอน ก็เป็นว่าบริษัทนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ข้อนี้ ซึ่งเซ็นสัญญาไม่ได้หากไม่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นเรื่องการคมนาคมหรือขนส่ง ซึ่งเป็นอาชีพสงวนไว้ไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาดำเนินการ

"ผมก็บอกกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าไปฟ้องศาล เอกสารเรามีอย่างนี้ เรามั่นใจว่าเราสู้ได้ เราดูตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย"

ส่วนการดำเนินการกับผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็ต้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 62 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ รฟท.จ่ายเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการบอกเลิกสัญญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ