(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือโต 1.5-2.5% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ปัจจัยใน-นอกกดดัน แต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 17, 2020 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือโต 1.5-2.5% จากเดิมคาด 2.7-3.7% ปัจจัยใน-นอกกดดัน แต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ลงเหลือ 1.5-2.5% หรือค่าเฉลี่ยที่ 2.0% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยหลักกดดัน คือ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 63

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง รวมถึง การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 62

สภาพัฒน์ คาดว่าในปี 63 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 1.4% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม จะขยายตัว ในอัตรา 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.4-1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.3% ของ GDP

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 1.การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 4.8 ล้านคน จากเป้าหมาย 41.8 ล้านคน เหลือราว 37 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.3 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์คลี่คลายและกลับมาเป็นปกติได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ก็คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงเดือนมิ.ย.63 2.ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจากประมาณการเดิมนั้น สภาพัฒน์มองว่าภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่ได้รวมไว้ในผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภัยแล้งได้เริ่มมีความรุนแรงและส่งผลกระทบในภาพรวมมากขึ้น โดยอาจจะทำให้ GDP ภาคเกษตรในปีนี้ลดลง 5% แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและการกระจายตัวของฝนในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นสำคัญ 3.ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายปี 63 ซึ่งสภาพัฒน์คาดว่างบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย.63 จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือน ก.พ.63 ดังนั้น ความล่าช้าที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 เดือนนี้ ทำให้เม็ดเงินลงทุนในปี 63 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 32,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัญหาความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มมากขึ้น "3 เดือนแรกปีนี้ เราได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เพราะฉะนั้นเราจะต้องกระตุ้นให้กลับมา ทำส่งออกปีนี้ให้โตได้ 2% หาโอกาสที่สินค้าไทยจะเข้าไปทดแทนสินค้าจากจีน เร่งสรุปการเจรจาภายใต้ข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญๆ ตลอดจนต้องเร่งรัดเบิกจ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ดูแลผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะค่อยเริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 2/63 หลังจากที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระบบ และการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่างๆ สามารถขับเคลื่อนได้จากเม็ดเงินงบประมาณที่เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ได้

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดของปีนี้ โดย GDP มีโอกาสจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 (เทียบ QoQ) แต่คงไม่มาก เนื่องจากไตรมาส 4/62 มีการขยายตัวที่ไม่สูงมากอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่า GDP จะค่อยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในไตรมาส 2 และเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 และจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 อย่างไรก็ดี มองว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่อยู่ในสภาวะถดถอยทางเทคนิค เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะต้องเห็นการติดลบของ GDP ที่เทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่ของไทยคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคาดว่า GDP จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพียงไตรมาสเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะได้เห็นในช่วง GDP ไตรมาส 1/63 เทียบกับ GDP ไตรมาส 4/62

ขณะที่สภาพัฒน์ เห็นว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 63 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง

(2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส, การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น, การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี, การพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และการติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

(3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.0% (ไม่รวมทองคำ) โดยการขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 63, การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส, การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน และการเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 91.2% 70.0% และ 75.0% ตามลำดับ

(5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน, การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ, การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ

(6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยว, กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง, กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs, การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ