สภาพัฒน์ กางข้อมูลยืนยันขณะนี้ไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่แค่ชะลอตัวลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 20, 2020 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ขยายตัว 1.6% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า (%YOY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 62 ขยายตัวจากไตรมาส 3 ของปี 62 ที่ 0.2% (%QoQ SA) นั่นคือกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มิใช่การลดลงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 มีปัจจัยสำคัญจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ได้แก่ (1) การขยายตัวในเกณฑ์ที่ต่ำของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท (2) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ (3) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 1.5 - 2.5% ชะลอตัวลงจาก 2.4% ในปี 2562 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะเผชิญกับข้อจำกัดต่อขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ (1) ภาคเกษตรมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น (2) ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง (3) ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ (4) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี ในกรณีฐานคาดว่าข้อจำกัดที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณจะยุติลงในไตรมาสแรก และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติในช่วงหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ (2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

สภาพัฒน์ ชี้แจงว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หมายถึง ภาวะลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Percentage change quarter on quarter of seasonally adjusted series: % QoQ SA) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งประเทศไทย เคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค จำนวน 4 ครั้ง ในปี 2540, 2551, 2556 และ 2557

ครั้งแรก เกิดในปี 2540 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2540 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 เป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งที่สอง เกิดในปี 2551 เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งทื่สาม เกิดในปี 2556 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศคือภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ครั้งที่สี่ เกิดในปี 2556-2557 เป็นช่วงที่เผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ GDP ณ ราคาที่แท้จริงหลังปรับฤดูกาลแล้ว ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เป็นการลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ