นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์น แคลิฟอร์เนีย คาดการณ์ว่า ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอาจมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี เนื่องจากประชากรที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (เบบี้บูมเมอร์) เริ่มเข้าสู่วัยปลดเกษียณหรือเสียชีวิต ส่งผลให้มีที่พักอาศัยเหลือมากกว่าเดิม ประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งมีกว่า 78 ล้านคน เป็นผู้ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับราคาบ้านและขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มเข้าสู่วัยปลดเกษียณหรือเสียชีวิตก็จะส่งผลให้มีที่พักอาศัยหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รายงานของ ศจ.โดเวลล์ ไมเยอร์ส และ ซองโฮ เรียว นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโก โครนิเคิล ระบุว่า การที่ประชากรกลุ่มดังกล่าวขายบ้านมากขึ้นทำให้มีบ้านว่างสำหรับขายมากกว่าจำนวนผู้ซื้อบ้าน ในท้ายที่สุด ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐกินเวลายาวนานถึง 20 ปี เนื่องจากประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ มีช่วงห่างกว่า 18 ปี (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1946-1964) โดยกลุ่มที่มีอายุมากที่สุดก็เพิ่งเริ่มขายบ้านของตนเอง "หลังปี 2010 ประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีอายุมากที่สุดจะเริ่มมีอายุเกิน 65 ปี ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุมีมากกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" นักวิจัยกล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน