กกพ.คาดปลายเดือน มี.ค.รู้ผลใบอนุญาต Shipper ให้ BGRIM นำเข้า LNG

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 25, 2020 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) แก่ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่ยื่นขอนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อนำมาใช้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมถึงโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ของกลุ่มบริษัท เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุ (Replacement) คาดว่าจะรู้ผลภายในปลายเดือน มี.ค.นี้

หาก กกพ.อนุมัติให้ BGRIM ได้รับใบอนุญาต Shipper ก็จะนับเป็นผู้นำเข้า LNG รายที่ 3 ของไทย นอกเหนือจาก บมจ.ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ กกพ.ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้วรอบแรก แต่อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะกรณีการนำเข้า LNG ในสัดส่วนที่มากเข้ามาอยู่ในระบบที่มีทั้งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและจากเมียนมา อาจจะทำให้คุณภาพก๊าซธรรมชาติรวมไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะทำให้ผู้ได้ใบอนุญาต Shipper รายใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีโอกาสไม่ได้รับอนุญาตจองใช้คลังจัดเก็บและแปรสภาพ LNG จากของเหลวมาเป็นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการจองใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากผู้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คาดว่า กกพ.จะหารือเรื่องดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

"เราพิจารณามารอบหนึ่งแล้ว เดี๋ยวจะพิจารณารอบสองเร็ว ๆ นี้ จบแน่นอนปลายเดือนมี.ค. การให้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่ง ปริมาณไม่ซีเรียส แต่ไปจองท่อ หรือ Terminal ปริมาณมันซีเรียส เราจะยอมไม่ซีเรียสตรงนี้แล้วให้ซีเรียสตรงโน้นเป็นหรือตายไม่รู้ หรือเห็นแต่แรกแล้วสกัดตรงนี้เลย คือ จองท่อ จองคลัง ไม่ใช่มี space แล้วจะได้ อยู่ที่ว่า space มีแล้วคุณภาพรวมทั้ง network ได้หรือไม่ คือเขาได้ใบอนุญาตจากเราเรื่องจัดหาและค้าส่ง ได้แล้วต้องเดินไปจองท่อและคลัง ท่อและคลังอาจจะว่าง แต่ตอนนี้เรามีก๊าซฯในอ่าวเท่านี้ LNG เท่านี้ มันไม่มีทางได้มากกว่านี้เพราะคุณภาพจะเกิน LNG เข้าเยอะเกิน"นายคมกฤช กล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า ปัจจุบันสูตรราคาก๊าซธรรมชาติมีการกำหนดค่าความร้อนตามมาตรฐาน มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และการนำเข้า LNG ราว 10-20% หากมีปริมาณ LNG เข้ามาผสมมากเกินกว่าปัจจุบันก็อาจทำให้คุณภาพก๊าซฯเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ช่วงแรกให้ กฟผ.ทดลองนำเข้า LNG เข้ามา 2 ล็อตกันรวม 1.3 แสนตัน ในเดือนธ.ค.62 และ เม.ย.63 เพื่อทดสอบระบบ ส่วนการที่ กฟผ.ต้องการจะนำเข้าเพิ่มเติมอีกตามแผนปีนี้ 6 แสนตันและปี 64 อีก 1 ล้านตันนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งคงต้องรอให้กระทรวงส่งเรื่องมาถามความเห็นจากทางกกพ.ก่อน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นว่าการจะนำเข้าได้เพิ่มเติมหรือไม่ต้องดูถึงปริมาณและความต้องการใช้ รวมถึงราคาในช่วงดังกล่าวด้วย ปัจจุบันแม้ราคา LNG ในตลาดจรมีราคาถูกกว่าการนำเข้า LNG ตามสัญญาในปัจจุบันก็ตาม แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลให้ ปตท.ทำสัญญาระยะยาวนำเข้า LNG เพื่อความมั่นคง ซึ่งก็คงต้องช่วยกันแบกรับภาระส่วนนี้ก่อน แต่เมื่อสัญญาระยะยาวหมดไป คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 10 ปี ก็เห็นว่าควรจะเปิดให้เกิดการแข่งขัน

ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยเริ่มลดลงในช่วงปี 65-66 ก็เป็นโอกาสในการนำเข้า LNG เข้ามาเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้สัดส่วน LNG เพิ่มขึ้นอาจเป็นระดับ 30-40% จาก 10-20% ในปัจจุบัน ทำให้คุณภาพก๊าซฯเปลี่ยนซึ่งต้องมีการปรับสูตรค่าความร้อนใหม่ ตามข้อกำหนดค่าควบคุมคุณภาพก๊าซฯที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่เรียกว่า Wobbe Index (WI) โดยปตท.ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator :TSO) จะต้องเสนอเรื่องการปรับสูตร WI มาที่ กกพ. ซึ่งการปรับสูตรใหม่ก็จะเอื้อให้เกิดการนำเข้า LNG ในอนาคตทำได้ง่ายขึ้น

"การนำเข้า spot เข้ามาใช้ได้ แต่ระยะยาวลำบากหน่อย เพราะเรื่องคุณภาพก๊าซฯ ตรงนี้ที่บอกว่านโยบายอาจต้องปรับวิธี เพราะถ้าเป็นวิธีเดิมจะติดประเด็นปัญหาบางอย่างทำให้ราคาเปลี่ยน ช่วงปี 66 ไม่มีปัญหา แต่ช่วงปี 62-66 จะทำอย่างไร ต้องให้นโยบายปรับวิธีคิดก่อน ถ้ามี room ก็พอได้"นายคมกฤช กล่าว

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาปรับนโยบายส่งเสริมกิจการก๊าซฯเสรีใหม่ จากเดิมที่แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ให้ กฟผ. ทดลองนำเข้าLNG , ระยะที่ 2 การคำนวณราคาก๊าซฯ โดยไม่นำมาคำนวณในสูตรตลาดรวม (Pool) และระยะที่ 3 LNG bases หรือ การเปลี่ยนมาใช้ LNG นำเข้าเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้ก๊าซฯจากอ่าวไทยเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นพบว่าหากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

ดังนั้น เบื้องต้น สนพ.จึงมีแนวคิดที่เปลี่ยนเสนอภาครัฐให้ปรับแนวทางปฏิบัติใหม่ ซึ่งอาจเหลือดำเนินการแต่ระยะที่ 1 และระยะที่ 3 เท่านั้น โดยตัดระยะที่ 2 ออกไป และให้ไปใช้สูตรการคำนวณราคาตลาดรวม เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะส่งผ่านไปสู่ภาคประชาชนในอนาคต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สนพ.อยู่ในช่วงเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนจัดทำเป็นแผนงานเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐขออนุมัติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ