(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ.63 ขยายตัว 0.74% Core CPI ขยายตัว 0.58% YoY

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2020 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน ก.พ.63 อยู่ที่ 102.70 เพิ่มขึ้น 0.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.08% จากเดือน ม.ค.63 โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 63 เพิ่มขึ้น 0.89%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.พ.63 อยู่ที่ 102.91 เพิ่มขึ้น 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือน ม.ค.63 และช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 0.53%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.21 เพิ่มขึ้น 2.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.36% จากเดือน ม.ค.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.30 ลดลง - 0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.33% จากเดือน ม.ค.63

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน ก.พ.63 สูงขึ้น 0.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.05% โดยมีปัจจัยสำคัญจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ที่เป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่กลุ่มพลังงานกลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 2 เดือน

การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และการลงทุนที่ชะลอตัวแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทางตรงต่อพฤติกรรมและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม ทำให้รายได้ของภาคธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การขนส่ง การค้าปลีกและการค้าส่ง การผลิตและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.63) ที่เพิ่มขึ้น 0.89% นั้นมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอิทธิพลจากภัยแล้ง และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มทรงตัวในช่วงแรกก่อนที่จะเริ่มผันผวนในทิศทางที่ลดลงในระยะต่อมา ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อรายได้ กำลังซื้อ และความต้องการสินค้าและบริการ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 0.8% แต่ยังคงอยู่ในกรอบประมาณการเดิมที่ 0.4-1.2%

"มีความเป็นไปได้ที่ทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่ถึง 0.8% เพราะมีปัจจัยเรื่องไวรัสโควิด ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจจะทบทวนกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อปีนี้ใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในระยะต่อไป

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า สำหรับราคาสินค้าข้าวถุงและน้ำดื่มมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง แต่ยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวยังไม่ได้ขาดตลาด ประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า เพราะสินค้ามีปริมาณที่เพียงพออย่างแน่นอน

"ราคาสินค้าโดยรวมไม่ได้แพงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด แต่ราคาในอนาคตอาจจะสูงขึ้นได้จากความต้องการสินค้าที่มากขึ้น ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ไม่ว่าจะเป็น เจลล้างมือ ทิชชู อาหารแห้ง ยังมีเพียงพอ ไม่ได้มีปัญหา เราสามารถเร่งการผลิตในประเทศได้ ส่วนปัญหาภัยแล้งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะผลผลิตอาจจะออกสู่ตลาดลดลง และทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการให้มีการบริโภคได้อย่างเพียงพอ" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ