(เพิ่มเติม) ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติแพ็คเกจมาตรการช่วยประชาชน-ผู้ประกอบการลดผลกระทบโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 6, 2020 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติแพ็คเกจมาตรการช่วยประชาชน-ผู้ประกอบการลดผลกระทบโควิด-19

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เห็นชอบกรอบมาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยในส่วนของผู้ประกอบการจะมี 4 มาตรการการเงิน และ 4 มาตรการภาษี ขณะที่ความช่วยเหลือที่ให้กับประชาชนจะมีการให้เงินสำหรับการใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 1 พันบาท ไม่เกิน 2 เดือน รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น โดยจะเสนอรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ถึงจุดสูงสุด และขณะนี้ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ในทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังกระทบไปถึงภาคการผลิตและบริการ ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบชุดที่ 1 โดยยืนยันว่าจะระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน และให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

"ผมเรียนว่า งานนี้ไม่มีการแจกเงิน ถ้าฟังให้ครบ การให้เงินช่วยเหลือเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น กรุณาอย่าไปเขียนเลอะเทอะ ภาวะยามนี้เป็นภาวะประเทศเผชิญปัญหาทุกคนต้องช่วยกัน...เมื่อวานดูข่าวว่า แจกเงินแสนล้าน ผมไม่รู้ว่าเอาข่าวจากไหน เมื่อข่าวยังไม่คอนเฟิร์มไปเขียนได้อย่างไร ประเทศไม่ใช่ของเล่น"นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า ได้สั่งการให้ กระทรวงการคลัง ไปหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในภาวะวิกฤตต่างๆ ด้วย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงว่า มาตรการชุดแรก จะเป็นมาตรการชั่วคราวครอบคลุมผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือน เม.ย.63 โดยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจะมีมาตรการ 2 ด้าน คือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี

โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%

2.การปรับโครงสร้างหนี้ ให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

3.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10%

และ 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน

ส่วนมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ

2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟท์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้มาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้

3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่าในช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.63 เพื่อดูแลลูกจ้าง

และ 4.กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น หากยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จะได้รับคืนไม่เกิน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติจะได้คืนภายในไม่เกิน 45 วัน

นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย 1. ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2. ให้มีการบรรเทาค่าน้ำ ค่าไฟ เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด 3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง

4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น โดยกระทรวงคลังจะปรับปรุงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น และ 5. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย. 2563 และ SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนได้มากกว่า 65% ระยะเวลาถือครอง 10 ปี

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการดูแลประชาชน โดยแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 1,000 บาท/ราย เป็นเวลา 2 เดือน โดยจ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขา ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.63 เติบโตได้ต่ำกว่าปกติในหลายด้าน ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออกที่ยังติดลบ ส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/63 เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 63

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ขยายความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมประเมินว่าจะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน แต่จากการประเมินใหม่คาดว่าสถานการณ์จะจบได้ภายใน 6 เดือน และกว่าจะสร้างความมั่นใจต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3/63 ถึงต้นไตรมาส 4/63 แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

"วันนี้ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ไตรมาสที่ 1 มีผลกระทบงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ใจผมคิดว่า ไตรมาส 1 คงออกมาต่ำคงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 เมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขเบื้องต้นเดือนมกราคมจะต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 อยากให้ทุกคนทำใจ รัฐบาลก็ทำใจตัวเลขไตรมาสที่ 1 ปีนี้ไม่ดี หลังจากนั้นก็หวังว่าไตรมาส 2 ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐจะกลับคืนมา แต่ว่าท่องเที่ยวเราคิดว่าจะแย่ต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง วันนี้ตัวเลขท่องเที่ยวหายไป 50%"นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมได้มีการหารือมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินต่างๆ ทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่ายสายการบิน เช่น การปรับลดค่าบริการสนามบิน มาตรการลดค่าบริการการเดินอากาศ การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินที่อยากจะขอเพิ่มถึงกลางปีนี้ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ