(เพิ่มเติม) บอร์ดพัฒนาตลาดทุนเคาะแผนงานหลัก,คลังเตรียมออก"บอนด์ละบาท"ปีนี้-ตลท.เปิดเทรดกระดาน 3 สตาร์ทอัพ Q1/64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2020 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย และตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

แผนงานหลัก คือ 1.การยกระดับการเข้าถึงตลาดทุนของประชาชนทั่วไปในวงกว้างมากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ และสตาร์ทอัพ 2. การแข่งขันได้ในระดับสากลทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอื่นๆ ในโลกได้ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดระดับแนวหน้าของภูมิภาค

"การขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว เราจะเน้นสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ระดับฐานรากเข้าถึงองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในเรื่องการบริหารการเงิน รวมถึงตลาดทุน ภายใต้แผนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ธปท. เราจะร่วมดำเนินการเสริมทักษะลงไปถึงระดับชุมชน ในรูปแบบที่เหมาะสม เน้นเชิงปฏิบัติเป็นหลัก" รมว.คลัง กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาคนตัวเล็กและกลุ่ม SMEs โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจการใช้ระบบบัญชีสมัยใหม่ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และการสร้างความเข้าใจด้านการลงทุนโดยบรรจุเนื้อหาไว้ในหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น

และเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น จะมีการจัดทำโครงการกระดานเทรด 3 สำหรับสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะได้จัดทำหลักเกณฑ์คาดไตรมาส 1/64 จะเริ่มเปิดดำเนินการซื้อขายได้

"ขณะนี้ต้องช่วยกันสื่อสาร และสร้างทักษะให้สตาร์ทอัพ และ SMEs มาใช้ตลาดนี้ หน้าตาของตลาดนี้จะไม่เหมือน SET ไม่เหมือน mai วิธีการเทรดไม่เหมือนกัน ต้นปีหน้า เราคาดว่าจะเริ่มได้ ซึ่งต่างประเทศก็มีตลาดในลักษณะนี้ เช่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย" รมว.คลังกล่าว

นายอุตตม ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมศึกษาแนวทางการออกพันธบัตร"บอนด์ละบาท"เป็นการอำนวยความสะดวกและการเข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้างให้ประชาชนทั่วไป

"เดิมการออกพันธบัตรของ สบน.ต่อหน่วยมีมูลค่าสูง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถออกพันธบัตรที่มีมูลค่าแค่หน่วยละ 1 บาทได้ แต่แนวทางปฏิบัติคงจะออกหน่วยละ 100 บาท ไม่ต้องมีเงินออมมากมายก็สามารถซื้อพันธบัตรได้ ระบบคาดว่าจะเรียบร้อยได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาซื้อได้ง่ายขึ้น" รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ จะร่วมกันพัฒนาให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยเป็นศูนย์กลางในการออก Green Bond ซึ่งจะเป็นหลักทรัพย์เพื่อการระดมทุนโดยองค์กรที่เน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้นักลงทุนมีความต้องการที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวค่อนข้างมาก โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพัฒนากฎเกณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมดำเนินการได้ในไตรมาส 2/63

ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการพันธบัตร"บอนด์ละบาท"ว่า สบน.ได้นำเทคระบบโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับผู้ออมรายย่อยผ่านสถาบันการเงินและตัวแทนต่างๆ อยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการปรับสู่รูปแบบใหม่ให้เข้าถึงประชาชนรายย่อยมากขึ้น ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมแอพพลิเคชั่นไว้รองรับ คาดว่าจะเริ่มเปิดจำหน่ายราวไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้ วงเงินเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท

"รอบนี้เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ทำให้สามารถขายขั้นต่ำได้ถึงหน่วยละบาท แต่ในทางปฏิบัติเราดูความต้องการของ demand แล้ว คงจะตั้งไว้ที่หน่วยละ 50-100 บาท...คาดว่าจะเปิดขายได้ในไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้" นายธีรัชย์ ระบุ

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนยังได้มีแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาวร่วมกันเพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจไทยผ่านกลไกตลาดทุน รวมทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยมีมาตรการหลักๆ ดังนี้

1. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มอุปสงค์ในตลาดทุนเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใน ตลท. ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.63 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ การพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ แนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย การเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระดอกเบี้ยจ่าย รวมถึงการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงานผ่านมาตรการทางภาษี และการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เป็นต้น

2. มาตรการบรรเทาภาระและต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ โดยมีมาตรการสำคัญที่ สำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลท. ดำเนินการโดยสรุป คือ (1) ด้านบริษัทจดทะเบียน แก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของหลักทรัพย์จดทะเบียน หน่วยลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ให้มีความยืดหยุ่นทั้งในด้านระยะเวลาและรูปแบบการจัดประชุม รวมถึงมีการพิจารณาลดค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน และอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทจดทะเบียนผ่านช่องทาง Digital และ Relationship Manager

(2) ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอนุญาตพนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) การมีมาตรการรองรับการขยายประเภทหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมการซื้อคืน (repo) และซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาจะขายคืน (reverse repo) เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทหลักทรัพย์ การปรับปรุงเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนในการรับจัดจำหน่ายหุ้นใหม่ที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และหน่วยลงทุน และลดค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT system) เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ

(3) ด้านบุคลากรในตลาดทุน มีความยืดหยุ่นโดยขยายเวลาในการอบรมให้กับบุคลากรที่จะต่ออายุในปี 63 รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะ (upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ (reskill) บุคลากรในตลาดทุน

(4) ด้านกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้ง SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายใน 16 มีนาคม 2563 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนรวมดังกล่าว และใช้หลักการอนุมัติแบบอัตโนมัติ และจะนำเสนอมาตรการให้นายจ้างหรือลูกจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี

นอกจากนี้ ตลท. จะจัดให้มีช่องทางให้บริษัทจดทะเบียนสื่อสารข้อมูลและมุมมองเชิงธุรกิจให้นักลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันกาล และจะผ่อนผันการจัดประชุมสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อรับรองงบการเงิน

"การดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจไทยผ่านกลไกตลาดทุนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะทำงานประสานกับคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ทั้งในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน การสร้าง Eco-system ให้ผู้ประกอบธุรกิจ สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตลาดทุน" รมว.คลังระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ