ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไก่ไปจีนปีนี้มีโอกาสโต 20-25% หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 27, 2020 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 63 ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปจีนเป็นมูลค่า 266-277 ล้านดอลลาร์ เติบโต 20-25% YoY แม้จะเติบโตในทิศทางที่ชะลอตัวเนื่องจากฐานปีก่อนสูงมาก แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ดี และถือเป็นสินค้าส่งออกตัวหนึ่งที่ยังไปต่อได้ในตลาดจีนปีนี้

"สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ภาครัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.ถึงวันที่ 30 เม.ย.63 และมีการคัดกรองเข้มในหลายจังหวัด การปิดด่านชายแดน รวมถึงการดูแลการเดินทางข้ามจังหวัดและข้ามแดน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้าเพื่อป้อนตลาดจีนอยู่บ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 และทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกอาจขยายตัวราว 20-25% YoY" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเอื้อต่อการส่งออกไทยไปจีนปีนี้ โดยจีนเริ่มกลับมาเปิดระบบการขนส่งตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยถูกลำเลียงไปป้อนตลาดจีนได้เป็นปกติอีกครั้ง โดยเส้นทางส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนจะขนส่งทางเรือผ่านด่านท่าเรือเชียงแสนของไทยไปยังท่าเรือกวนเหล่ยมณฑลยูนนานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ก่อนจะกระจายต่อไปยังมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศโดยการขนส่งทางบก

การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไทยไปจีนช่วงครึ่งแรกของปี 63 มีแนวโน้มเติบโต แต่อาจชะลอลงจากช่วง 2 เดือนแรกที่เติบโตถึง 31.4% YoY หรือมูลค่าส่งออกราว 41.0 ล้านดอลลาร์ โดยมีแรงหนุนการเติบโตส่วนหนึ่งมาจากผู้นำเข้าในจีนมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าในไตรมาส 1/63 ไปแล้วก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและปิดประเทศ ขณะที่คำสั่งซื้อไตรมาส 2/63 หลังจากการเปิดด่านขนส่งก็ทยอยเข้ามาต่อเนื่องจนเต็มกำลังการผลิตของโรงงานที่ผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพื่อส่งออกของไทยจำนวน 16 แห่ง เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังของจีนที่ลดลง โดยปัจจุบันศุลกากรจีนได้ออกมาตรการใหม่ทางด้านการค้า เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศให้สามารถเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ไก่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์นี้ด้วย เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มอาหารที่มีความจำเป็นต่อการบริโภคในจีน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไทยไปจีนช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงหนุนต่อจากโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ที่รอการประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเพื่อส่งออกไปจีน 12 แห่ง หากโรคโควิด-19 ในจีนไม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งคาดว่าไม่เกินไตรมาส 3/63 จีนน่าจะประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้กับโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ของไทยดังกล่าวสามารถส่งออกไปจีนได้ หลังจากเข้ามาตรวจสอบไปเมื่อปี 62

สาเหตุที่คาดว่าจีนจะเร่งอนุมัติขึ้นทะเบียนให้กับโรงงานของไทยก็คือ ความกังวลของผู้บริโภคที่มีผลิตภัณฑ์อาหารภายในประเทศในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19, ไข้หวัดนก ทำให้จีนต้องสั่งฆ่าไก่ไปกว่า 18,000 ตัว รวมถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้จีนไม่เพียงจะต้องขยายการผลิตแต่จำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งนำเข้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คาดว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับที่ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว สะท้อนจากตัวเลขแนวโน้มการนำเข้าไก่ของจีนที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาประเมินไว้ว่าในปี 63 จะยังพุ่งสูงถึง 7.5 แสนตัน หรือขยายตัว 20.0% YoY

"ด้วยกำลังการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 12 โรงงาน บวกกับฤดูกาลส่งมอบสินค้าปลายปีที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นกว่าช่วงปกติ คาดว่าภาพรวมการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวประมาณ 20-25% YoY ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

แม้ทิศทางการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในปีนี้ยังให้ภาพเชิงบวก แต่สิ่งที่แตกต่างและเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในปีนี้คือ 1) การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในตลาดจีน จากการเปิดตลาดให้กับคู่แข่งใหม่ๆ 2) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวอาจกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปี 63 อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 1-3% จากปี 62 ที่ขยายตัวได้ 6.1%

"สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ยาก คาดว่าความต้องการยังคงมีอยู่ แต่อาจจะปรับลดลงในช่วงที่จีนควบคุมการระบาดของโรค ทำให้กลุ่มลูกค้าสำคัญอย่างร้านอาหาร ไม่สามารถเปิดทำการในรูปแบบปกติได้ ทำให้ความต้องการสินค้าในช่วงนั้นลดลง บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้ที่ยังอยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ต้องระมัดระวังด้านการใช้จ่ายมากขึ้น"เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ