PODCAST: Weekly Highlight (30 มี.ค.-3 เม.ย.)"มะกัน"ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุแสนคน SET เม.ย.ส่อหลุด 1,000 จุด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2020 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (30 มี.ค.-3 เม.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30
มีนาคม 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (23-27 มี.ค.) SET INDEX ปรับตัวลดลงประมาณ 2.4% ขณะที่ ดัชนี SET 100 ลดลง 2.5% โดยกลุ่มหุ้นที่ติดลบหนักที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มการเงิน ,กลุ่มมีเดีย และกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริม ทรัพย์

แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนต่อเนื่อง หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกทยอยปิดพรมแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์หลายค่าย ออกมาคาดการณ์กันว่าแนวโน้ม SET INDEX ในสัปดาห์นี้ มีโอกาสขึ้นไปยืนเหนือ 1,100 จุดได้อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังมาตรการพยุงเศรษฐกิจของนานาประเทศที่ทยอยประกาศกันออกมา

โดยเมื่อคืนของวันที่ 27 มีนาคม นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้ลงนามมาตรการเยียวยาผลกระทบทาง เศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการจัดสรรวงเงินช่วยเหลือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังสหรัฐพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด ในโลกทะลุ 1 แสนราย

ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานว่า วันที่ 29 มีนาคม 2563 ณ เวลา 18.00 น.ตามเวลาประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 669,312 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดที่ 124,686 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปก็อยู่ในระดับสูง โดยอิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 92,472 ราย, สเปน 73,235 ราย, เยอรมนี 58,247 ราย, ฝรั่งเศส 38,105 ราย, อังกฤษ 17,315 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 14,076 ราย และเบลเยียม 10,836 ราย

ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทะลุ 30,000 รายทั่วโลก โดยอิตาลีมีผู้เสียชีวิตสูงสุดกว่า 10,000 ราย

สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในระยะถัดไป ต้องติดตามวงเงินใหม่ที่จะนำมาประคับประคองเศรษฐกิจ หลัง จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกพระราชกำหนดกู้เงิน วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท พร้อมเร่งจัดทำมาตรการเยียวยาระยะที่ 3 เพราะเล็งเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของไทยหนักกว่าในช่วง วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโค วิด-19 วันที่ 29 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 143 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีประวัติเชื่อม โยงกับสนามมวย ส่งผลให้มียอดสะสมผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 1,388 ราย แบ่งเป็น คนไทย 1,172 ราย และอื่น ๆ อีก 216 ราย ส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯและปริมณฑล และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 7 ราย

กรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ของ SET INDEX นักวิเคราะห์ประเมินแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,050 จุด และประเมินแนวต้านไว้ ที่ 1,133 จุด แต่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากผลกระทบโควิด-19 ว่าจะสร้างความเสียหายมากกว่างบประมาณที่นานาประเทศได้ตั้งไว้ เพื่อรับมือหรือไม่ รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้งในเดือน เมษายน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดตลาดหุ้นไทยในเดือน เมษายน คือการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส แรก ถ้าออกมาแย่กว่าคาด จะนำมาสู่การปรับฐานรอบใหม่อีกครั้ง

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ได้นำสมมติฐานกรณีเลวร้ายกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่เกิดวิกฤตต้ม ยำกุ้งเมื่อปี 2540 พบว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดลดลงมาอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น จากภาวะปกติจะอยู่ที่ 28 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ฉุด SET INDEX ปรับฐานแรงจาก 900 จุดเหลือเพียงเกือบ 400 จุดเท่านั้น

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้นจึงใช้สมมติฐานกำไรต่อหุ้นของตลาดปีนี้จะอยู่ในกรอบ 24.5- 27.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นหรือติดลบ 10% จากประมาณการเดิม ทำให้กรอบของ SET INDEX ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 1,100-1,250 จุด และกรณีย่ำแย่กว่าคาดติดลบ 20% กรอบของ SET INDEX ที่เหมาะสมก็จะลดลงมาเหลือ 800-1,000 จุดเท่านั้น

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 32.40-32.90 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลเงินเฟ้อเดือน มี.ค. และเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือน ก.พ. ของไทย และมาตรการรับมือ ความเสี่ยงจากโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก. พ. และดัชนีราคาบ้านจากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ เดือน ม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน มี.ค. ของจีน และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

https://youtu.be/3a0EA-TyS5Q


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ