COVID-19ครม.เห็นชอบทบทวนมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ระยะที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2020 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม.เกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

เนื่องจากมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28-30 มี.ค.63 มีผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน จึงประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้งตามมาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ที่ ครม.เห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมแต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 70,676 คน ส่วนกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กลุ่มอื่นๆ นั้น กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอทบทวนมติ ครม. เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ดังนี้

1.ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากเดิมจำนวน 3 ล้านคน เป็นจำนวน 9 ล้านคน

2.เพื่อให้สามารถชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที กระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.6363 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรกในเดือน เม.ย.63 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอ ครม.พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้ง

3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ครม.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้การดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการหรือโครงการ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (ประกาศคณะกรรมการฯ) เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว

ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน หรือ 1.20% ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร (Variable Cost) อยู่ที่ 2.56% และ 2.90% ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนเงิน (Cost of Fund) อยู่ที่ 1.56% และ 1.90% ตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละ 1.00% ของสินเชื่อที่อนุมัติ

ดังนั้น กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยไม่กระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงาน โดยพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และปีต่อ ๆ ไป

การดำเนินโครงการสินเชื่อฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ.2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว

การดำเนินมาตรการดังกล่าวยังเข้าข่ายตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าว และกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

โดยกระทรวงการคลังแจ้งว่า ณ สิ้นวันที่ 24 มี.ค.63 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 893,826.812 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.93% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 (วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งหากรวมภาระทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอ ครม. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม) ของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 682.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 0.02% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 และโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 10,236.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 0.32% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 จะส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 904,746.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 28.27% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ดังนั้นหากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 0.05% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 906,346.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 28.32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตรา 30% ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ