ธปท.เผยมาสเตอร์แพลนฉบับ 2 เปิดทางเพิ่มจำนวน แบงก์-นอนแบงก์ทั้งไทย-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 12, 2007 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ที่จะนำมาใช้ในช่วงปี 2552-2557 จะมีการเพิ่มจำนวนแบงก์ และ นอนแบงก์ ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยจะเปิดกว้างให้ทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น
พร้อมกันนั้น จะมีการเพิ่มโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในไทยเพิ่มขึ้น แต่จะต้องเร่งดำเนินการให้สถาบันการเงินปรับตัวให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยให้เวลาปรับปรุงด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ทางการจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อปูทางไปสู่การเปิดเสรีทางการเงิน
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2551 จากนั้นจะจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนจัดทำฉบับสมบูรณ์ก่อนสิ้นปี 2551 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะแรกที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงต้นปี 2550
วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ 2 คือ การส่งเสริมประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงินของไทย ให้สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยแบ่งองค์ประกอบของแผน คือ การลดต้นทุนในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน อันเกิดจากกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน
เพิ่มระดับการแข่งขันในระบบ โดยการขยายขอบเขตและปรับปรุงบทบาทของสถาบัน การเงินที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการเปิดให้มีการแข่งขันจากผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการไทยหรือต่างชาติ ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับระบบการเงินไทย โดยเป็น ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ ซึ่งแนวทางการผ่อนคลายจะดำเนินการอย่าง เป็นขั้นเป็นตอน ที่สอดคล้องกับความพร้อมของระบบการเงินไทย
และการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นการเพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดของระบบการเงิน ไทยเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพในประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสถาบันที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของระบบการเงิน ประเด็น ที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ ได้แก่ กฎหมาย ระบบฐานข้อมูล เครื่องมือบริหารความเสี่ยง และการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร กระบวนการดูแลผู้บริโภค เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ