ครม.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 63 คุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืช-โรคระบาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2020 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 63 คุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืช-โรคระบาด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ปรชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 2 มี.ค.63 เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกัน และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวให้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2,910 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการในปีการผลิต 2562 จำนวน 106 ล้านบาท และขอเสนองบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,803 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายพื้นที่รับประกันภัยทั้งโครงการ รวม 45.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น

1. การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier1) พื้นที่รวมไม่เกิน 44.7 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ดังนี้

กลุ่มที่ 1 พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ทุกราย) ไม่เกิน 28 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 97 บาทต่อไร่เท่ากันทุกพื้นที่ (ความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) เป็นประกันภัยกลุ่ม

กลุ่มที่ 2 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกเสี่ยงภัยต่ำ ไม่เกิน 15.7 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล

กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง ไม่เกิน 1 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 210 บาท/ไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 230 บาท/ไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล

โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกกลุ่ม ในอัตรา 58 บาท/ไร่ รวมถึงค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือของกลุ่มที่ 1 อีก 39 บาท/ไร่ (ค่าเบี้ยประกัน 97 บาทต่อไร่) ธ.ก.ส. จะเป็นผู้จ่าย กลุ่มที่ 2 พื้นที่เพาะปลูกเสี่ยงภัยต่ำ ค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาท/ไร่ สำหรับกลุ่มที่ 3 ในพื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (ค่าเบี้ยประกัน 210 บาท/ไร่ ส่วนต่าง 152 บาท/ไร่ ) และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง (ค่าเบี้ยประกัน 230 บาท/ไร่ ส่วนต่าง 172 บาท/ไร่ ) ส่วนต่างค่าเบี้ยประกันเกษตรกรเป็นผู้จ่าย

2. การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier2) พื้นที่รวมไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจ่ายเพิ่มจาก Tier1 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยเกษตรกรเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด แบ่งเป็น

1) พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 594 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 26.75 บาท/ไร่

2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 182 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 52.43 บาท/ไร่

3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 152 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 109.14 บาท/ไร่

สำหรับวงเงินคุ้มครอง ครอบคลุมดังนี้

1. ภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 1,260 บาท/ไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 240 บาท/ไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,500 บาท/ไร่

2. ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 630 บาท/ไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 120 บาท/ไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 750 บาท/ไร่

น.ส.รัชดา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม 2,803 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส.บวก 1% ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 2,980 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ