นักวิชาการ ระบุวิกฤติรอบนี้ต่างจากอดีตเหตุยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แนะสร้างสมดุลการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2020 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพสุ เตชะรินทร์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ"เรียนรู้แนวทางการดูแลคน และการปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด"ภายใต้เสวนา CEO TALK พลิกวิกฤติว่า สถานการณ์โควิดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก หลังจากปลายปีที่แล้วธุรกิจเพิ่งวางแผนรับมือกับสงครามการค้าสหรัฐกับจีน แต่ขณะนี้ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์โควิดที่มาเร็วมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากวิวิกฤติที่เคยผ่านมา เพราะส่งผลกระทบไปทั่วโลกและยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด อีกทั้งนำไปสู่การใช้วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ หลายธุรกิจตั้งสมมติฐานหลากหลาย และมีการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจออกไปหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่มองว่าจะฟื้นตัวในลักษณะ L shape หรือ U shape ซึ่งแต่ละธุรกิจพยายามแก้ไขปัญหาระยะสั้นมากกว่ามามองการแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องกระแสเงินสด ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์โควิดไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาระยะสั้น แต่ระยะยาวธุรกิจจะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้น เรื่องสำคัญคือจะต้องสร้างสมดุลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายพสุ กล่าวว่า วิกฤติโควิดสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง แต่กลับเป็นวิกฤติรุนแรงต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะความท้าทายว่าทำอย่างไรให้คงสถานภาพการจ้างงานไว้ได้

"โควิดเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง...ผมมองว่าสถานการณ์โควิดเป็นโอกาสทบทวนตัวเองจะทำอะไรต่อในอนาคต บทบาทกรรมการทำอย่างไร เป็นโอกาสอันดีคิดว่าคิดทบทวนบทบาท ในช่วงนี้ที่อยู่นิ่งขณะนี้ว่าตัวเองต้องเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง สถานการณ์โควิดทำให้เรียนรู้หลายมุมมองได้"นายพสุ กล่าว

นายพสุ กล่าวว่า การเรียนรู้ผ่านออนไลน์ในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความจำเป็นมาเร็วกว่าที่คิดไว้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด และเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายก็เห็นว่าน่าจะสามารถนำมาผสมผสานกับการเรียนปัจจุบัน ขณะเดียวกันที่ตนเองมีบทบาทเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นตัวกลางถ่ายทอดภาพธุรกิจที่เผชิญปัญหา เพื่อให้คำแนะนำว่าจะรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างบุคคลากรที่สามารถเข้าทำงานได้ทันทีตามที่ธุรกิจต้องการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ