ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้แจงสภาฯ ย้ำความชัดเจนของกลไกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 30, 2020 19:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ประกอบการ SMEs เป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกสำคัญมากต่อการจ้างงานและการฟื้นฟู รวมทั้งการรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ SMEs เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องมีความหลากหลายและครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนของ ธปท. เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตั้งแต่มาตรการลดดอกเบี้ย การเลื่อนกำหนดชำระหนี้เป็นการทั่วไป การเร่งให้ปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพิ่มเติม

นายวิรไท กล่าวว่า สภาวะวิกฤตโควิดมีความไม่แน่นอนสูง ไม่มีใครทราบว่าจะจบเมื่อใดและจบอย่างไร รวมถึงโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนนี้กระทบทุกคน ผู้ประกอบการต้องวางแผนการทำธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นความไม่แน่นอนของสถาบันการเงินเวลาประเมินความเสี่ยงของลูกค้าเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่ ดังนั้น หลักในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จึงคำนึงถึง 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. เร่งเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้า SMEs ที่เข้าข่าย จะได้รับความช่วยเหลือมีประมาณ 1.7 ล้านราย ทั้งนี้ ธปท. มีหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินระบุชัดเจนให้ "สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งอื่นก่อนเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องไม่มีลักษณะให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากหลายช่องทางอยู่แล้ว"

2. รักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน ต้องหาจุดสมดุลให้เหมาะสม เพราะเมื่อสถาบันการเงินต้องเลื่อนการชำระหนี้ให้กับ SMEs และลูกหนี้รายย่อยเป็นการทั่วไป ทำให้ไม่ได้รับสภาพคล่องเข้ามา แต่สถาบันการเงินยังมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงินทุกวัน ดังนั้น จึงต้องดูแลความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินด้วย วิกฤตโควิดอาจทำให้เกิดหนี้เสียซึ่งจะกระทบเงินกองทุนของสถาบันการเงินได้เช่นกัน ด้านหนึ่งก็อยากเยียวยา ด้านหนึ่งก็ต้องคำนึงผลกระทบต่อสถาบันการเงิน เพราะหากสถาบันการเงินอ่อนแอก็จะไม่สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงต่อไปได้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง

3. มาตรการต่าง ๆ ด้านการเงินในช่วงความไม่แน่นอน ภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหายจากการช่วยเหลือ SMEs เหมือนกับที่บรรษัทประกันอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการในหลายโครงการ แต่มาตรการต่าง ๆ ต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป

4. ต้องมีส่วนเอื้อให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีการทำธุรกิจในโลกหลังโควิดที่โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ การมุ่งใส่เงินโดยธุรกิจยังไม่ได้ปรับตัวให้เหมาะสม จะยิ่งสร้างปัญหาในอนาคต เพราะหากปรับตัวไม่ได้ แต่ใส่เงินเข้าไปมาก จะทำให้มูลหนี้สูงขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ก็จะยากยิ่งขึ้น

อนึ่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก. กู้เงินของรัฐบาล เพราะกลไกของการให้ซอฟต์โลนเป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท.ที่ปล่อยให้สถาบันการเงินในช่วงระยะเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินจะนำเงินส่วนนั้นกลับมาจ่ายคืนให้กับ ธปท. จึงไม่เป็นหนี้สาธารณะและไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป

สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ปล่อยให้สถาบันการเงิน 0.01% และสถาบันการเงินนำไปปล่อยต่อให้ SMEs ในช่วง 2 ปีแรก ในอัตราดอกเบี้ย 2% นั้น กลไกซอฟต์โลนตามปกติ สถาบันการเงินจะเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งหากกลายเป็นหนี้เสีย สถาบันการเงินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และสถาบันการเงินมีต้นทุนในการประกอบการ แต่ด้วยความไม่แน่นอนสูงในภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายในบางส่วน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น ถ้าสินเชื่อ SMEs ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน

เมื่อพิจารณาถึงวิธีการคำนวณหลักการชดเชย การคำนวณเงินชดเชยของรัฐจะขึ้นอยู่กับเงินสำรองเผื่อหนี้เสียที่ต้องตั้งเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีหลักประกันกับสถาบันการเงิน จำนวนเงินการชดเชยก็จะต่ำกว่านั้นมาก เพราะต้องไปหักหลักประกันที่ลูกหนี้มีกับสถาบันการเงินก่อนถึงจะมาคำนวณเงินชดเชย จึงเป็นมาตรการที่เน้นผู้ประกอบการรายเดิม เพราะในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และไม่เคยมีประวัติการกู้เงินกับสถาบันการเงินมาก่อน สถาบันการเงินจะไม่ทราบความเสี่ยงและไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดใน พ.ร.ก. อาจไม่ครอบคลุมความเสี่ยงของลูกหนี้

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อซอฟต์โลน ตาม พ.ร.ก.ปล่อยไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อช่วยเยียวยาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และเพื่อฟื้นฟูเมื่อระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะของการฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด 19 คลี่คลาย ดังนั้น ตาม พ.ร.ก. ได้กำหนดระยะเวลาช่วง 6 เดือนแรกในการยื่นคำขอกู้และสามารถขยายต่อได้อีก 2 รอบ ๆ ละ 6 เดือน ธปท. ไม่ได้คาดหวังว่า ซอฟต์โลนจะปล่อยได้ทั้งหมด 5 แสนล้านบาทในทันที

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจช้ากว่าที่ ธปท. คาดหวังไว้ เพราะแต่ละสถาบันการเงินมีนิยามของ SMEs ต่างกัน รวมทั้งมีความเสี่ยงและกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่ต่างกัน นอกจากนั้น มาตรการ "อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อเพื่อชาติ" มีผลต่อขั้นตอนของการค้ำประกัน การจดทะเบียน การจดจำนองหลักประกันใหม่ๆ อีกทั้งลูกหนี้บางส่วนยังไม่ต้องการขอสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางปรับตัวก็ยังไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกำชับสถาบันการเงินเร่งรัดให้ติดต่อกับลูกหนี้ พร้อมประสานงานกับสมาพันธ์ SMEs ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนโดยเร็วต่อไป

สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากซอฟต์โลน และนำเงินซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้กับ SMEs รายอื่นในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นายวิรไท กล่าวว่า หากท่านใดมีหลักฐานและข้อมูล ขอความกรุณาช่วยแจ้งให้ ธปท. ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวน และหากพบว่ามีความผิดจากการดำเนินการจริง ธปท.จะเรียกคืนเงินซอฟต์โลน พร้อมดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ