คลัง เผยพิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัสตั้งใหม่เม.ย.เพิ่มแค่ 5 รายจากมี.ค. เจอพิษโควิด-ศก.ในประเทศชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2020 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง เผยพิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัสตั้งใหม่เม.ย.เพิ่มแค่ 5 รายจากมี.ค. เจอพิษโควิด-ศก.ในประเทศชะลอ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยสถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในช่วงเดือนเม.ย.63 ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิ 1,194 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือนมี.ค.63

ในจำนวนนี้เป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี) สะสมสุทธิจำนวน 1,037 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย จากเดือนมี.ค.63) และเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี) สะสมสุทธิจำนวน 157 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย จากเดือนมี.ค.63)

สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธ.ค.59 จนถึง ณ สิ้นเดือนเม.ย.63 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,329 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (107 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 135 ราย ใน 52 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,194 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 880 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 39 ราย) ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 737 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้

1. สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,037 ราย ใน 75 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (94 ราย) กรุงเทพมหานคร (94 ราย) และขอนแก่น (62 ราย) ตามลำดับ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 813 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 701 ราย ใน 71 จังหวัด

2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 74 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และอุบลราชธานี (10 ราย) มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 67 ราย ใน 26 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 36 ราย ใน 20 จังหวัด

3. ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

3.1 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 248,423 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,589.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,525.68 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 122,862 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,511.52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.29% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 125,561 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,078.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.71% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่กับลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยคำนึงถึงศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อรายอื่นๆในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) รายใหญ่ ๆ ที่ขยายธุรกิจเพื่อเข้ามาเปิดบริการสินเชื่อในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

3.2 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 108,815 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,752.94 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 13,850 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 357.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 12,478 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 342.80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.45% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มลดลงซึ่งส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในภาพรวม โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ภาพรวมของยอดสินเชื่อคงค้างมีแนวโน้มลดลง

สำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมี.ค.60 จนถึงวันที่เสร็จสิ้นโครงการวันที่ 31 มี.ค.63 ที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับประชาชนทั่วไปและผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวนรวมทั้งสิ้น 624,384 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน รวมทั้งสิ้น 27,366.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินการในภาพรวมของการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ได้กระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่อนุมัติสะสมทั้งหมดครอบคลุมประชาชนรายย่อยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46.53% ภาคเหนือ 19.80% ภาคกลาง 15.72% ภาคใต้ 14.23% และภาคตะวันออก 3.72%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ