(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ค.ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือนหลังคลายล็อกดาวน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2020 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 63 อยู่ที่ 48.2 จาก 47.2 ในเดือนเม.ย.63 เป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน หลังจากเริ่มผ่อนคลายธุรกิจบางส่วนได้ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ค. อยู่ที่ 40.2 จากเดือน เม.ย.63 ที่อยู่ในระดับ 39.2

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 46.6 จาก 46.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 57.7 จาก 56.4

ปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%, ส่งออกเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.12%

ส่วนปัจจัยลบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 1/63 ติดลบ 1.8% รวมทั้งปรับลดประมาณการปี 63 ลง, รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป, ความกังวลปัญหาสงครามการค้า, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่า และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.63 จะปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 8 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการจากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปีหลายรายการ ดังนั้น จึงคาดว่าผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้ไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดร้านค้า/กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนั้น การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแค่ 1 เดือนยังวัดอะไรไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้น คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ปีนี้" นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 ในทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

โดยความเสี่ยงสำคัญซึ่งพบได้จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภค คือ ความกังวลในเรื่องการว่างงาน การปลดคนงานที่ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของไทยด้วย ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงพ.ค. และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/63 เศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวถึง -10% แต่คงจะไม่ทรุดตัวต่อเนื่องมากไปกว่านี้แล้ว เพราะสถานการณ์ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลงอย่างมาก การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ร้านค้า/กิจกรรมต่างๆ สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมองว่าความเชื่อมั่นจะเริ่มดีขึ้น เพราะมองว่าสถานการณ์ในอนาคตจะไม่แย่ไปมากกว่านี้ "เศรษฐกิจคงจะไม่ทรุดต่อเนื่อง ถ้าไม่มีเหตุให้ต้องล็อกดาวน์ในรอบ 2 ไม่มีเรื่องทางการเมือง หรือปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนพ.ค. หรือในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าจะติดลบประมาณ 10% และมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย 1-2% ในไตรมาส 4" นายธนวรรธน์กล่าว พร้อมระบุว่า ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจที่เคยประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวที่ระดับ -5 ถึง -3.5% แต่ทั้งนี้โอกาสที่จะเป็น -3.5% เริ่มมีน้อยลง โดยมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะลงไปอยู่ในขอบล่างที่ -5% นายธนวรรธน์ มองว่า การฟื้นเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3 มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องทำอย่างเข้มข้น ซึ่งเชื่อว่ามาตรการด้านการคลังของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น จะมีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในระดับชุมชน ส่งผลดีที่ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานราก

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการให้แก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น ภายใต้การควบคุมการแพร่ระบาดในระยะยาวไว้ได้ ก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เข้ามาหมุนเวียนใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์ในปกติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ