นักวิชาการฝากข้อเสนอต่อปัญหาหนี้สิน 6.1 ล้านลบ.-การบ้าน 9 ข้อของผู้ว่า ธปท.คนใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday June 14, 2020 19:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงปัญหาภาระหนี้สิน 6.1 ล้านล้านบาทและการขาดทุนทางบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยสามแสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2562 นั้นจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่วิตกกังวลกัน และ ภาระหนี้สิน 6.1 ล้านล้านบาทจะไม่ได้นับรวมเป็นภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ภาระหนี้สินแสดงถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบการเงินอันเป็นการปฏิบัติตามพันธกิจของความเป็นธนาคารกลาง การทำพันธกิจของแบงก์ชาติไม่ว่าจะออกพันธบัตรเพื่อดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินให้เหมาะสม การพิมพ์ธนบัตรออกใช้หรือการรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ทำให้ตัวเลขหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่แบงก์ชาติก็จะมีตัวเลขทรัพย์สินเพิ่มขึ้นควบคู่กัน

อย่างไรก็ตามหนี้สินดังกล่าวของแบงก์ชาติไม่เป็นภาระต่อสาธารณชนตราบเท่าที่หนี้สินมีสินทรัพย์หนุนหลังหรือรองรับอยู่ ฉะนั้นการบริหารจัดการไม่ให้สินทรัพย์ด้อยค่าจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและการบริหารดุลยภาพของหนี้สินของแบงก์ชาติที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความจำเป็นส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 237,245 ล้านดอลลาร์ (สิ้นปี 62 2.59 แสนล้านดอลลาร์ สิ้นปี 61 อยู่ที่ 2.39 แสนล้านดอลลาร์) มีทุนสำรองติดอันดับ 12-13 ของโลก ส่วนการขาดทุนทางบัญชีหรือการขาดทุนจากการตีค่าทรัพย์สินหรือหนี้สินที่ถืออยู่ของแบงก์ชาติไม่ใช่ปัญหาตราบเท่าที่การขาดทุนมากกว่า 80-90% เป็นผลจากการตีราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ถืออยู่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดจากผลการดำเนินงานในการลงทุนที่ผิดพลาดหรือการปรับสัดส่วนในการลงทุนที่ไม่เหมาะสม งบปี 62 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลขาดทุนรวม 3 แสนล้านบาทและมีผลขาดทุนสะสมประมาณ 1.069 ล้านล้านบาท เป็นผลจากเงินบาทแข็งค่าประมาณ 7-8% ในปี 2562 เมื่อไตรมาสแรกของปีนี้แบงก์ชาติก็กำไรทางบัญชีเพิ่มขึ้น 3 แสนกว่าล้านบาทจากการที่เงินบาทอ่อนค่า จะเห็นได้ชัดว่า ตราบเท่าที่ 80-90% ของการขาดทุนหรือกำไรเป็นผลจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศที่แบงก์ชาติถืออยู่เราไม่ต้องวิตกกังวลใดๆทั้งสิ้นและยังไม่มีปัญหาอะไรในระบบเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ การขาดทุนในปี 62 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่อีกด้วย

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้มีการเปิดรับสมัครผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ จึงฝากการบ้านพร้อมข้อเสนอให้ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ไว้พิจารณาดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง แม้นประเทศไทยจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงอันเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ต้องไม่ประมาทเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกจากต่างประเทศน้อยกว่าเดิมอย่างชัดเจน และพึ่งตระหนักว่าเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นเงินระยะสั้นที่พร้อมไหลออกตลอดหากประเทศไทยมีปัญหาการรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติและท่านผู้ว่าคนใหม่ต้องทำให้มีความเพียงพอต่อการรองรับความผันผัวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก รักษาอำนาจซื้อในตลาดโลกของระบบเศรษฐกิจไทย และต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศให้เพียงพอต่อสภาพคล่องภายในเมื่อจำเป็นเพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ การปฏิรูประบบการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ เนื่องจาก เงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนจะผันผวนอย่างมากและด้อยค่าลงรวมทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลเหล่านี้จะลดลงทุนสำรองระหว่างประเทศที่สะสมเอาไว้จะด้อยค่าลง ควรเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรนำเอาการศึกษาที่ทำไว้แล้วเรื่อง "การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง" มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และ ควรศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้ Digital Currency ในทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนและทำ Swap Agreement กับประเทศในเอเชียเพิ่มเติม

ข้อสอง ต้องศึกษามาตรการสกัดกั้นกระแสเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจำนวนมากจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทยและเอเชีย หากไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอจะก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ข้อสาม ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารกองทุน BSF (Corporate Bond Stabilization Funds หรือ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้) ด้วยความรัดกุมไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเงินสาธารณะ ที่ผ่านมา ธปท.ได้กำหนดอัตราผลตอบแทนที่คำนึงถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงของ "เงินสาธารณะ" ได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตามการบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้จึงอยู่ที่ความสามารถในการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบอร์ดแบงก์ชาติ การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายกองทุน BSF ต่อคณะกรรมการลงทุนและระบบการกลั่นกรองขั้นต้นจาก บลจ กรุงไทย แต่ผู้ที่มีความสำคัญจะต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดการแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ คือ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ และ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องยึดถือธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ข้อสี่ ธนาคารกลางต้องทบทวนการดำเนินนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมทางการเงินหันมาใช้นโยบายการเงินแบบเชิงรุกมากขึ้นและมาตรการการเงินขยายตัวมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงานในระดับโลกและไทย

ข้อห้า ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ควรมีบทบาทร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงินในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของการทุจริตคอร์รัปชันและพฤติกรรมการฟอกเงินที่เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคมไทยเทคโนโลยีบล็อคเชนที่นำมาใช้ในระบบการเงินจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารกำกับดูแลตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปรกติอันเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้นวิธีการดัดหลังผู้กระทำการทุจริตแล้วเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน คือ การดำเนินการยกเลิกธนบัตรบางรุ่นเพื่อให้นำมาแลกคืนขอให้ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติลองไปศึกษาวิธีการของรัฐบาลและธนาคารกลางของอินเดียในการยกเลิกการใช้ธนบัตรเพื่อปราบปรามการทุจริตเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว

ข้อหก ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ผู้ว่าคนใหม่ได้ฟื้นฟูเกียรติภูมิของ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง "สำนักงานธนาคารชาติไทย" ซึ่งต่อมาก็คือ"ธนาคารแห่งประเทศไทย" ด้วย เพราะที่ผ่านมาได้มีความพยายามลดบทบาทของรัฐบุรุษผู้นี้ที่มีต่อการจัดตั้งแบงก์ชาติ นอกจากนี้ควรกล่าวยกย่องสามัญชนอีกท่านหนึ่ง คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เจ้าของหนังสือ "ทรัพย์ศาสตร์" ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรก และ ผู้เสนอแนวคิดการจัดตั้งธนาคารกลางตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ข้อเจ็ด ประเทศไทยควรพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด ขณะเดียวกัน หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิมพ์ธนบัตรในอนาคตรุ่นใหม่ ควรพิมพ์ให้มีความหลากหลายสวยงาม มีเหตุการณ์สำคัญของประเทศทางด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวสยาม ขอเสนอให้ ผู้ว่า ธปท คนใหม่ ควรใช้ "พันธบัตร"ของไทยแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นประเทศไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของมากขึ้นและควรมีภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ข้อแปด ขอให้ศึกษาถึงข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้ "เงินบาท"เป็นเงินสกุลหลักในอินโดจีน พม่าและในขั้นต่อไปในอาเซียน

ข้อเก้า พัฒนาระบบการเงิน ระบบธนาคาร ระบบการชำระเงิน และการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินซึ่งได้มาตรฐานสากลอยู่แล้วให้ยกระดับขึ้นไปอยู่แถวหน้าของเอเชียเพื่อ พัฒนา "กรุงเทพ" ไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียในระดับเดียวกับสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ