สรท.ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นหดตัว -10% จากเดิมคาด -8% จากผลกระทบโควิด-บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 7, 2020 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตัณติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ปรับลดคาดการณ์ส่งออกในปีนี้หดตัว -10% จากเดิมหดตัว -8% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดส่งออกในหลายประเทศล็อกดาวน์ และปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังจากภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- พ.ค. 63 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) Global economic slowdown การหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศและอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มสินค้ายานยนต์

ทั้งนี้ คงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบ 2 และการประกาศใช้มาตรการ Lockdown ของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกอีกครั้ง

2) ปัญหา International logistics อาทิ 2.1) อัตราค่าระวางปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ route อเมริกา จาก 2 สาเหตุ 1. อุปสงค์การส่งออกไปยังเส้นทางทรานส์แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวมาเท่ากับช่วงปกติ 2. สายเรือของไทยได้ Space Allocation ลดลง เนื่องจากมีการให้ Space ไปยังประเทศจีนมากกว่า เพราะสามารถทำราคาได้สูงกว่า ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ Space เรือที่ส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกาค่อนข้างแน่น ต้องจองระวางล่วงหน้า สายเรือจึงมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง และมีการเรียกเก็บค่า General Rate Increase (GRI) เพิ่มขึ้น 2.2) การจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลายทางยังคงมีอุปสรรค จากมาตรการ lockdown แต่ละประเทศทำให้เกิดส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ

3) ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ (default risk) ของผู้ประกอบการส่งออก จากการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้า เนื่องด้วยผลกระทบของการระบาดโควิด-19 บางประเทศมีการออกกฎเพื่อช่วยผู้ประกอบการในประเทศตน ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าของไทย ขาดสภาพคล่อง

4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากการไหลเข้าของเงินทุนสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดทุน ประกอบกับการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์จากแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจถึง -6.5% และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ที่ระดับ 30.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้า โดยเฉพาะในสถานการณ์ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

5) ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 จากการชะลอตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลกซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 แม้ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงเดือนกรกฎาคมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งและเดินทางปรับตัวสูงขึ้น

6) ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงจากเขื่อนใหญ่ภายในประเทศที่มีค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณอุปทานในสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง และคุณภาพของสินค้าลดลงเนื่องด้วยความเสียหายจากภัยแล้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ