"ศักดิ์สยาม"เร่งเครื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศ ขับเคลื่อนศก.หลังโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 15, 2020 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ "MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19" โดยได้กล่าวเปิดงาน "คมนาคมภูมิใจ รวมไทยสร้างชาติ" ว่า ขับเคลื่อนให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมประกอบด้วย 4 มิติ คือ หน่วยงานทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง

โดยในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ได้เร่งรัดการพัฒนาทำให้เกิดการเชื่อมโยงความเจริญสู่หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้สามารถสัญจรได้สะดวก โดยมีแผนการดำเนินการทั้งประเทศภายใต้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมถนนของกรมทางหลวงชนบทเข้าสู่ถนนสายหลักของกรมทางหลวง และเชื่อมโยงแต่ละจังหวัดทั่วประเทศเข้าด้วยกัน

พร้อมกันนี้ ได้สรุปบทเรียนการทำงานในปี 2563 ซึ่งขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี ซึ่งพบปัญหาอุปสรรค เช่น การเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยปรับเพิ่มค่าเวนคืนให้สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน ทำให้สามารถก่อสร้างและมีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน รวมถึงมอเตอร์เวย์สาย บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ซึ่งขณะนี้ได้เสนอผลการประมูล โครงการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา ( O&M) ทั้ง 2 สายไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วคาดว่าจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งเอกชนขอรับผลตอบแทนต่ำกว่าราคากลางถึง 36-37% เป็นประโยชน์กับรัฐอย่างมาก

ส่วนมอเตอร์เวย์สายใหม่ นครปฐม-ชะอำ มูลค่า 79,006 ล้านบาท ลงทุนแบบ PPP Net Cost อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องเวนคืน บริเวณ จ.เพชรบุรีหากทำความเข้าใจได้จะเร่งเสนอครม. แต่หากยังติดขัดอาจต้องทบทวนรูปแบบปรับแนวเพื่อเลี่ยงจุดที่มีปัญหา แต่จะกระทบต่อการศึกษา PPP และ EIA ที่ทำให้โครงการยิ่งล่าช้าออกไป

ส่วนโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เช่นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามแผนและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ตามแผนงาน รวมถึงเมืองการบินอู่ตะเภา ซึ่งจะมีการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 ไปถึงอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กม. โดยใช้งบจากอีอีซี และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คาดว่าจะเสนอผลประมูลต่อคณะกรรมการอีอีซี ภายในเดือนก.ค.นี้ จะสร้างความเชื่อมั่น นักลงทุนประเทศต่างๆ และคนไทยได้

ด้านระบบคมนาคมทางน้ำ ได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่และท่าเทียบเรือน้ำลึก รวมทั้งโครงการเชื่อมการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความเจริญ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและตราจร(สนข.) ได้ศึกษาในการพัฒนาท่าเรือเดิมหรือสร้างท่าเรือ โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และแก้ปัญหาผลกระทบประชาชนใช้เวลาศึกษาในปี 2564 โดยใช้งบกลางปี วงเงิน 75 ล้านบาท

ส่วนระบบรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน กำลังแก้ปัญหา EIA แบบก่อสร้างสถานีอยุธยาโดยทำความเข้าใจกับกรมศิลปากร กรณีไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสถาปัตยกรรม ส่วนรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ( การวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ได้บรรลุข้อตกลงกับจีนแล้ว อยู่ระหว่างการแปลเอกสารสัญญาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยและส่งให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไทย และจะลงนามสัญญาในเดือนต.ค.นี้ ที่ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ส่วนรถไฟสายสีแดง งานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้า 70-80% แต่ยังติดปัญหาการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ที่ยังล่าช้า ทั้งนี้ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ในการเดินรถสายสีแดงและก่อสร้างส่วนต่อขยายรวมถึงบริหารสถานีกลางบางซื่อและสถานีรายทางรวม 29 สถานี ไปด้วย จะสรุปผลในเดือนหน้า ทั้งนี้เนื่องจากหากแยกการบริหารสถานีกลางบางซื่ออกมาจะทำให้ต้องขาดทุนถึง 7 ปี ดังนั้นจึงให้รวมไปกับ เอกชนPPPส่วนการเดินรถคาดว่าจะเปิดได้ในปี 2565 เนื่องจากผู้รับเหมาขอขยายเวลาก่อสร้างสายสีแดงมากกว่า 500 วัน

ด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบินและผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมการค้าการลงทุน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาคทั่วประเทศ การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ส่วนเรื่องแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กระทรวงคมนาคมจะสรุปข้อยุติประเด็นข้อสงสัยของกระทรวงการคลัง จากนั้นจะเสนอคณะทำงานฟื้นฟูขสมก. ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในต้นเดือนส.ค.นี้

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังสงสัยประเด็นที่ผลการดำเนินงานที่จะมีกำไรก่อนหักภาษีดอกเบี้ยค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เป็นบวกภายใน7 ปี ซึ่งต่างจากแผนฟื้นฟูเดิม 3 ปี ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่า แผนใหม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/คน/วัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ส่วนแผนเดิม เก็บอัตรา 15 - 20 - 25 บาท/คน/เที่ยว เมื่อเทียบกับแผนใหม่ ค่าโดยสารปัจจุบันจะถูกลงกว่า 50%

นอกจากนี้ ขสมก.จะต้องประชุมร่วมกับรถร่วมเอกชนจำนวน 54 เส้นทาง เพื่อสรุปกรณีที่ให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถกับขสมก.ในรูปแบบการจ้างวิ่งตามระยะทางเพื่อให้จัดเก็บค่าโดยสารในโครงสร้างเดียวกัน 30 บาทตลอดวัน รวมถึงประเด็นการนำเงินสนับสนุน PSO จากรัฐมาช่วยเหลือด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ตนและ รมช.คมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม จัดเวิร์คช็อปคมนาคม และแถลงผลงานในรอบ 1 ปี พร้อมวางแนวทางขับเคลื่อนการทำงานในปี 64 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ